“มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 ”จัดอย่างยิ่งใหญ่

วช. ร่วมกับเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017)” ระหว่างวันที่ 23 – 27 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017)”   พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ศาสตร์พระราชา : วิจัยและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” และมอบรางวัล National Ethics Committee Accreditation System of Thailand (NECAST) และประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานห้องปฎิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมีตามมาตรฐาน (มอก.2677)

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่า    การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017)” เป็นเวทีระดับชาติ ที่นำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน และพาณิชย์/อุตสาหกรรม โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ

สำหรับการจัดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2560 (Thailand Research Expo 2017)” ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็น“พระบิดาแห่งการวิจัย” สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสรรค์ และสร้างแรงขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการวิจัยของไทยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ระดับประเทศและนานาชาติ ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยมี น้องฟันเฟือง เป็น Mascot ของงาน

กิจกรรมภายในงานแบ่งเป็น 9 ส่วน ได้แก่ การแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระบิดาแห่งการวิจัยไทย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์

นิทรรศการผลงานวิจัยและกิจกรรมการวิจัยจากหน่วยงานในระบบวิจัยร่วมด้วย “ผลงานวิจัยเชิงศิลปะ” และ “ผลงานวิจัยตอบโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่” นิทรรศการผลิตผลองค์ความรู้การวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนสังคม (Research for Community) นิทรรศการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา   กว่า 127 หน่วยงาน นำเสนอผลงานมากกว่า 500 ผลงาน ใน 7 ประเด็นกลุ่มเรื่องวิจัย ได้แก่ งานวิจัยเพื่อความมั่งคง งานวิจัยเพื่อการเกษตร งานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม งานวิจัยเพื่อสังคม งานวิจัยเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข งานวิจัยเพื่อพลังงาน งานวิจัยเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม