ข่าวดีเกษตรกร…เมื่อรัฐเดินหน้าแก้ปัญหาทั้งระบบ

นับเป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ หลังจากคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ออกประกาศมาตรการดูแลสินค้าเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังเส้น และปาล์มน้ำมัน โดยออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการรับซื้อ หรือพ่อค้าคนกลางข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไป ผู้ประกอบการรับซื้อมันเส้นตั้งแต่ 15 ตันขึ้นไป หรือคิดเป็นหัวมันสด 45 ตัน ต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และราคา ต่อเจ้าพนักงาน กกร. จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะผู้ประกอบการโกดังและโรงงานอาหารสัตว์ที่ครอบครองข้าวโพดตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไปเท่านั้น ที่ต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าว

การเพิ่มเติมในส่วนของผู้รับซื้อด้วยจะทำให้สามารถตรวจสอบติดตามดูแลผู้ที่อยู่ในระบบการซื้อขายตามบัญชีที่เกิดขึ้นได้ตลอดห่วงโซ่ ส่วนปาล์มน้ำมันกำหนดให้โรงงานรับซื้อทะลายปาล์มสดที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ขึ้นไป

เรื่องนี้เป็นผลมาจากที่ผ่านมามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ร้องเรียนไปถึงกรมการค้าภายใน ว่าไม่ได้รับราคาที่เหมาะสมตามที่รัฐกำหนด เช่น ปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ที่ตั้งราคารับซื้อผลผลิตไว้ต่ำมาก ส่วนใหญ่ให้ราคาเพียง 3 บาทกว่าต่อกิโลกรัม(กก.) เท่านั้น ซึ่งแตกต่างเป็นอย่างมากกับราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคา 8 บาท/กก. ที่ความชื้น 14.5% ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นั่นเท่ากับว่าถึงจะมีการควบคุมราคาที่ปลายทางแล้วก็ตาม แต่เกษตรกรต้นทางก็ยังคงขายผลผลิตได้ราคาต่ำอยู่ดี จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีการควบคุมที่กลางทางด้วย ประกาศของ กกร.ดังกล่าวจึงถือเป็นการกำกับดูแลราคาทั้งระบบ

ไม่เพียงการดูแลต้นทางคือเกษตรกร และการกำกับผู้ใช้ปลายทางอย่างโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างที่ผ่านมา แต่ยังขึ้นทะเบียนพ่อค้าคนกลางที่จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรซึ่งถือเป็นกลางทาง ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อระดับราคาสินค้าของเกษตรกร

ดังนั้น หลังจากนี้ก่อนจะรับซื้อสินค้ากับเกษตรกรก็ต้องมีการลงทะเบียนพ่อค้าคนกลางกันก่อน หากไม่แจ้งก็จะมีความผิดตามกฎหมายราคาสินค้า แน่นอนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ก็คือพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ ที่จะสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ที่บางคนอาจใช้ภาวะราคาตกต่ำเป็นข้ออ้างในการกดราคาเกษตรกรยิ่งขึ้นไปอีก

พูดถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนที่นำไปเชื่อมโยงกับการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อการเพาะปลูก จนข้าวโพดเหมือนเป็นแพะรับบาป ทั้งที่จริงๆ แล้วพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าวโพดที่ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงนั้นเป็นที่ราบ ไม่ใช่ที่เชิงเขาหรือบนป่าบนดอยอย่างที่ใครเข้าใจ

แต่ที่ชาวเขาต้องทำอย่างนั้นก็เพราะไร้ทางเลือกในการประกอบอาชีพ เมื่อข้าวโพดคือหนทางหนึ่งที่จะได้รายได้มาประทังชีวิตเขาก็จำต้องเลือกทางนั้น

อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่มีมาตรการรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เฉพาะที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีเอกสารยืนยันชัดเจนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดปัญหานี้

ที่สำคัญยังส่งผลดีต่อการสืบย้อนกลับเพราะการลักลอบนั้นผิดกฎหมาย แต่ข้าวโพดสีเดียวกันหมด จึงต้องมีระบบตรวจสอบโดยดูที่เอกสารสิทธิ ส่วนที่ว่าทำไมวันนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงกลายมาเป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกกันในทุกภูมิภาค จนกลายเป็นหนึ่งในพืชไร่เศรษฐกิจสำคัญของไทย เช่นเดียวกับข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ฯลฯ

นั่นเพราะข้าวโพดเป็นพืชคาร์โบไฮเดรตสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ เหมือนกับกากถั่วเหลืองและมันสำปะหลัง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ที่นิยมนำมาผสมในสูตรอาหารสัตว์ ส่วนจะผสมในปริมาณมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสูตรอาหารที่กำหนดคุณค่าโภชนะไว้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเกษตรกรจะหันมาเพาะปลูกข้าวโพดมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ตาม แต่ผลผลิตข้าวโพดของไทยที่ผลิตได้ต่อปีมีเพียง 4.5 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่มากถึง 8.1 ล้านตัน/ปี เนื่องจากข้าวโพดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องการใช้มากถึงร้อยละ 60 ของสัดส่วนวัตถุดิบทั้งหมด

ขณะที่กากถั่วเหลืองที่เป็นวัตถุดิบอีกตัวที่นิยมใช้นั้น ไทยปลูกได้น้อยเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจากบราซิลและสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้เพาะปลูกถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก

จากปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์จึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาใช้ทดแทน อาทิ ข้าวสาลีและกากข้าวโพด ที่ได้จากการผลิตเอทานอล

โดยเฉพาะข้าวสาลีที่มีคุณค่าทางโปรตีนประมาณร้อยละ 9-10 ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีโปรตีนประมาณร้อยละ 7-8 ที่สำคัญการนำเข้านี้ไม่ได้เป็นไปอย่างเสรี เพราะมีมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ควบคุมอยู่ โดยอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีน้อย

ที่สำคัญยังเป็นไปตามกฎของ AEC และห้ามนำเข้าในช่วงเดือนกันยายน-มกราคม เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามากถึงร้อยละ 70 ของทั้งปี และจะต้องรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน ที่ กก.ละ 8 บาท ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน

ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการคุ้มครองเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ หากแต่ในช่วงที่ผ่านมาพ่อค้าพืชไร่ได้มีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐสั่งงดการนำเข้าข้าวสาลี โดยอ้างว่าข้าวสาลีเป็นต้นเหตุให้ข้าวโพดอาหารสัตว์ในประเทศมีราคาตกต่ำ

ทั้งที่สาเหตุที่แท้จริงคือ การลักลอบนำเข้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่าและราคาถูกกว่าของไทย ที่พ่อค้าพืชไร่อาศัยจังหวะนี้นำเข้ามาสวมสิทธิเป็นข้าวโพดไทย เพื่อขายต่อให้กับโรงงานอาหารสัตว์ได้ในราคาขั้นต่ำที่ กก.ละ 8 บาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

เรื่องนี้ไม่ใช่ข้อมูลลอยๆ แต่เป็นการยอมรับของสมาคมพ่อค้าพืชไร่ต่อ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในที่ประชุมเพื่อแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่าได้มีการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 ล้านตันจริง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่มีการลักลอบมากๆ เพราะราคาในประเทศสูงเนื่องจากผลผลิตออกน้อย

การที่ กกร.ออกโรงแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ด้วยการกำกับดูแลพ่อค้าคนกลางในครั้งนี้ จึงนับเป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการมิใช่เพียงการดำเนินการเฉพาะหน้า และเป็นการมองปัญหาทั้งระบบที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ที่เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรได้รับราคาผลผลิตที่เป็นธรรม

รัฐพล ศรีเจริญ                                                                                                 [email protected]

ที่มา : มติชนออนไลน์