มหัศจรรย์พันธุ์พืช ตระกูล “มะ”

พืชผักผลไม้ตระกูลมะ เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นองค์ประกอบของอาหารและยาสมุนไพรไทย สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท จึงควรอนุรักษ์พันธุ์พืชดั้งเดิมของไทยเหล่านี้ เพื่อเป็นฐานพันธุกรรมนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ที่มีโอกาสสร้างรายได้เข้าประเทศไทยได้อย่างมหาศาลในอนาคต

รู้จัก พืชตระกูล “มะ”

พืชผักผลไม้ตระกูล “มะ” ที่เรียกขานในเมืองไทยนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า คำว่า “มะ” เป็นคำที่กร่อนเสียงมาจาก คำว่า หมาก แปลว่า ลูกไม้ หรือผลไม้ ยกตัวอย่าง เช่น หลักศิลาจารึกในสมัยสุโขทัย เรียก มะพร้าว ว่า หมากพร้าว ส่วน มะม่วง เรียกว่า หมากม่วง และ มะขาม ว่า หมากขาม นอกจากนี้ ในภาษาไทยถิ่นอีสานยังคงใช้ คำว่า หมาก เป็นคำขึ้นต้นเรียกผลไม้หลากชนิด เช่น หมากไฟ หมายถึง มะไฟ ส่วน หมากนัด คือ สับปะรด นั่นเอง

มะเฟือง
มะปรางหวาน

พืชตระกูล “มะ” ที่ใช้กินเป็นผลไม้ ได้แก่ มะกอก มะขวิด มะปราง มะพลับ มะเฟือง มะไฟ มะม่วง มะยม มะหวด มะพูด มะพร้าว ฯลฯ ตระกูล “มะ” ที่ใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสอาหาร ได้แก่ มะนาว มะกรูด มะขาม มะเขือ มะระ มะรุม มะอึก มะดัน ฯลฯ ส่วน ตระกูล “ม” ที่ใช้เป็นยา เช่น มะแว้ง มะตูม มะเกลือ มะหาด

พืชตระกูล “มะ” พันธุ์แปลกหายาก

พืชผักตระกูล “มะ” สายพันธุ์ที่แปลกๆ หายาก ซึ่งหลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก เช่น

มะม่วง “เจ้าพระยาลืมเฝ้า” เป็นมะม่วงพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์ มีเรื่องเล่าถึงที่มาของชื่อว่า เวลามะม่วงสายพันธุ์นี้ติดผลจะดกเต็มต้น หากไม่มีใครเฝ้าจะถูกคนขโมยสอย เก็บเอาผลจนเกลี้ยงต้น นั่นเอง จึงถูกเรียกชื่อว่า “มะม่วงพระยาลืมเฝ้า” มะม่วงพันธุ์นี้ เมล็ดลีบ ติดผลง่ายและดกเต็มต้น มีรสชาติอร่อยมาก ผลดิบ เนื้อกรอบ รสเปรี้ยวปนมัน ผลสุกสีเหลืองเข้ม สีสวยเนื้อไม่เละ รสหวานหอมดี

มะม่วง “สามร้อยไม่ถึงผัว” เป็นมะม่วงสายพันธุ์โบราณที่ใกล้สูญพันธุ์ มีเรื่องเล่าว่า มีคนนำมะม่วง 300 ผล ไปฝากท่านเจ้าพระยา แต่ท่านติดงานอยู่ในวัง จึงฝากมะม่วงไว้กับภริยาของท่านเจ้าพระยา เมื่อท่านกลับถึงบ้านก็ไม่ได้กินมะม่วงของฝาก เพราะภริยาของท่านได้นำมะม่วงมาปอกกินเล่นจนหมด เพราะมะม่วงชนิดนี้มีรสชาติอร่อยมากๆ เผลอกินทั้งหมดโดยไม่รู้ตัว จึงเป็นที่มาของชื่อมะม่วงพันธุ์นี้นั่นเอง

มะม่วง “สามร้อยไม่ถึงผัว”

มะพร้าว “นาลิเก” เป็นมะพร้าวชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีเปลือกสีเหลืองไม่มีสีเขียวและเป็นมะพร้าวที่มีน้ำหอมคล้ายเผือกต้ม แต่บางคน บอกว่า มีน้ำรสชาติเหมือน “น้ำสไปรท์” คนโบราณเชื่อว่า ต้นมะพร้าวนาลิเก เป็นต้นไม้มิ่งขวัญเสริมมงคล ของผู้ที่เกิดปีเถาะ เป็นสายพันธุ์มะพร้าวโบราณที่มีลักษณะพิเศษ เพราะต้น ใบ ดอก และผล เป็นสีเหลืองทอง เนื้อหวานนุ่ม นิยมนำมาทำยาแก้แพ้ท้อง

มะพร้าว “นาลิเก”

มะพร้าว “เปลือกหวาน” ชนิดเดียวในโลกที่กินได้พร้อม “เปลือก” เป็นมะพร้าวสายพันธุ์เก่าแก่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมเรียกมะพร้าวพันธุ์นี้ว่า “มะพร้าวขี้ทุบ” นิยมนำผลอ่อนตั้งแต่ยังไม่มีเนื้อมะพร้าวมากินเปลือกเล่นๆ ในยามว่าง โดยจะปอกเปลือกสีเขียวด้านนอกออกก่อน แล้วกินเปลือกด้านใน รสชาติหวานมัน จึงเรียกมะพร้าวพันธุ์นี้ว่า “มะพร้าวเปลือกหวาน”

มะพร้าว  “เปลือกหวาน”

การปลูกดูแล

“อนุชิต พรหมชาติ” หรือ คุณโอ๋ เกษตรกรชาวบ้านอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี (โทร. 080-6546443,  085-4404815) เป็นเกษตรกรที่สนใจอนุรักษ์สายพันธุ์ผลไม้ ตระกูล “มะ” ซึ่งเป็นไม้ไทยโบราณหายากไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งสายพันธุ์มะม่วงไทย มะพร้าว กล้วยนานาชนิด

คุณโอ๋ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มะม่วงสายพันธุ์โบราณ เช่น มะม่วงสามร้อยไม่ถึงผัว ว่า สายพันธุ์มะม่วงป่า ลำต้นแข็งแรงทนโรค ที่สำคัญเนื้อมะม่วงมีกลิ่นหอม เหมือนกลิ่นไอฝน เนื้อมะม่วงเนียนนุ่ม ให้ผลผลิตที่ดีในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ – มีนาคม

ส่วน มะม่วงเจ้าพระยาลืมเฝ้า เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เต็มที่แล้ว เชื่อว่า ทั่วเมืองไทยปลูกมะม่วงพันธุ์นี้ไม่เกิน 5 ต้น เพราะมะม่วงชนิดนี้ไม่สามารถปลูกขยายพันธุ์ได้ หลายคนเคยทดลองเพาะขยายพันธุ์มะม่วงชนิดนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมะม่วงต้นใหม่ที่ได้กลายพันธุ์ทั้งหมด คนโบราณ เชื่อว่า ผู้ที่ปลูกมะม่วงพันธุ์นี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่มีบุญญาธิการเท่านั้น จึงเรียกชื่อมะม่วงชนิดนี้ว่า มะม่วงเสี่ยงทาย ลักษณะเด่นที่น่าสนใจของมะม่วงพันธุ์นี้คือ มีกลิ่นหอมเหมือนดอกมะลิ หรือกุหลาบอ่อนๆ และออกลูกตามต้นเช่นเดียวกับต้นมะไฟ

ส่วน มะพร้าวเปลือกหวาน มีลักษณะภายนอก คล้ายกับต้นมะพร้าวสายพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะลำต้นหรือผล หากปอกเปลือกดูด้านในผล จึงจะเห็นความแตกต่างของมะพร้าวเปลือกหวาน เช่น กาบมะพร้าวและกะลา มีสีขาวอมดำคล้ายสีควันบุหรี่ เปลือกมีลักษณะผิวบาง ไม่มีเสี้ยน เส้นใยนุ่ม สามารถกินเปลือกด้านในได้ ส่วนผลสุกแก่ จะมีลักษณะเปลือกหรือขุยมะพร้าวเป็นสีขาว เนื้อและน้ำมะพร้าวไม่อร่อย แต่สามารถนำไปทำแกงกะทิได้เช่นเดียวกับมะพร้าวแก่ทั่วไป

มะพร้าวเปลือกหวาน ลักษณะภายนอกเหมือนกับมะพร้าวพันธุ์ทั่วไป

เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเก็บผลอ่อนของมะพร้าวเปลือกหวานขนาดเท่ากำปั้น นำมาปาดจุกออก ค่อยๆ ลอกเปลือกออกแล้ว เฉาะกินเหมือนมันแกว เนื้อมะพร้าวชนิดนี้มีรสชาติหวานมัน กรอบ ใครที่มีโอกาสชิมก็มักจะติดใจทุกราย เนื่องจากทุกวันนี้ ต้นมะพร้าวเปลือกหวานมีจำนวนน้อยลงและหายาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมเก็บผลอ่อนไว้กินภายในครัวเรือนเป็นหลัก หากใครสนใจอยากทดลองชิมมะพร้าวเปลือกหวาน หรืออยากได้มะพร้าวพันธุ์นี้ไปปลูกสามารถติดต่อกับคุณโอ๋ได้โดยตรง

คุณโอ๋ ยืนยันว่า การปลูกดูแลมะพร้าวโบราณพันธุ์นี้ทำได้ไม่ยาก สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด การปลูกมะพร้าวต้องปลูกแบบไม่มีราก ถ้ามีรากต้องเอารากออกให้หมด เวลาปลูก ควรใช้ปุ๋ยขี้ไก่รองก้นหลุมก่อน และใช้ดินฝังกลบต้นพันธุ์มะพร้าวเพียงครึ่งผล รดน้ำอาทิตย์ละ 2 ครั้ง เมื่อต้นมะพร้าวอายุ 4-5 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตสำหรับบริโภคได้

คุณโอ๋ กล่าวเชิญชวนให้คนไทยหันมาปลูกมะพร้าวนาริเกหรือมะพร้าวไฟกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมะพร้าวชนิดนี้ มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาอาการอ่อนเพลีย และบำรุงหัวใจ ข้อดีของมะพร้าวนาริเกคือ ให้ผลผลิตเร็วเมื่ออายุ 3 ปี ขณะที่มะพร้าวทั่วไปมักให้ผลผลิตในปีที่ 7

การปลูกมะพร้าวนาลิเกใช้หลักการเดียวกับการปลูกมะพร้าวทั่วไป นอกจากนี้ คุณโอ๋ยังแนะนำให้ใช้เกลือแกง 1 ช้อนแกง ผสมกับน้ำเปล่า 1 แก้ว หรือโรยเกลือบางๆ รอบโคนต้นมะพร้าว เพื่อป้องกันหนอนและด้วง ไม่ให้มากัดกินยอดมะพร้าว ใครสนใจอยากได้พันธุ์ไม้โบราณมาทดลองปลูก ก็สามารถติดต่อสอบถามกับคุณโอ๋ ได้ตามที่อยู่ข้างต้น รับรองไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

เผยแพร่ในระบบครั้งแรก วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ.2561