“โกโก้ไทย” ฝ่าวิกฤต…โอกาสทะยานสู่ตลาดโลก

ราคาโกโก้พุ่งทะลุเพดานตลาดโลกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาขายในตลาดล่วงหน้า (Cocoa Continuous Contract หรือ CCOO) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตัว จากราคา 4,275 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในช่วงวันที่ 2 มกราคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันที่ 22 เมษายน 2567 เป็น 11,516 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทั้งยังเป็นสถิติราคาที่สูงที่สุดในรอบ 47 ปี หลายคนมองว่าราคาพุ่งสูงขนาดนี้เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในประเทศไทยที่ล้มลุกคลุกคลานมาเนิ่นนาน น่าจะสามารถลุกขึ้นลืมตาอ้าปากได้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจมุมมองของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในภาคเหนือ ภาคใต้ รวมถึงผู้ประกอบการและตัวแทนภาครัฐ ว่าความร้อนแรงของทิศทางราคาโกโก้ในตลาดโลกจะมีผลสะท้อนต่อราคาโกโก้ไทยอย่างไร และจะผลักดันโกโก้ไทยไปสู่เวทีโลกได้หรือไม่

คุณภาพเทียบชั้นตลาดโลก

นายภูริชญ์ ฐานะวุฑฒ์ เจ้าของร้าน “ภราดัย คราฟต์ ช็อกโกแลต & คาเฟ่” (PARADAi – Crafted Chocolate & Cafe) ซึ่งได้รับรางวัล “Overall Winner” Best Dark Chocolate 2022 จากงาน International Chocolate Awards – WORLD FINAL 2022 ด้วยคะแนนสูงถึง 91.80 คะแนน ถือเป็นรางวัลในการผลิต Craft chocolate ที่อร่อยที่สุดในโลก

และ Golden Bean – Academy of Chocolate Award 2023 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาโกโก้ในตลาดโลกที่ปรับขึ้น ไม่ได้ส่งผลต่อราคาโกโก้ภายในประเทศไทย เพราะว่าไทยปลูกโกโก้น้อย และไม่ได้เป็นพืชส่งออกจริงจัง ตนมองว่าผลผลิตโกโก้ไทยยังไปต่อได้ ในมุมมองของคุณภาพ เน้นคุณภาพ ส่วนปริมาณก็ให้เป็นไปตามสถานการณ์ ยิ่งถ้าทำให้คุณภาพดี สุดท้ายอุตสาหกรรมโกโก้ไทยก็สู้โกโก้ในตลาดโลกได้

“ย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อน พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกโกโก้เพียงแต่ตอนนั้นมีการปลูกน้อย จึงลงพื้นที่ไปในจังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าชาวบ้านเริ่มโค่นทิ้ง เนื่องจากไม่มีที่รับซื้อและบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาเทกโอเวอร์ ยุติการผลิต จึงเกิดแรงบันดาลใจก่อให้เกิดร้านภราดัย คราฟต์ ช็อกโกแลต & คาเฟ่ ขึ้นมา โดยร้านเข้าไปรับซื้อโกโก้จากเกษตรกรโดยตรงจากสวน ปีละหลาย 10 ตัน ปัจจุบันราคาตลาดประมาณ 4-10 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทางร้านจะให้ราคาตามความพอใจของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรและร้านสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้จนถึงปัจจุบัน”

หลอกขายพันธุ์ไร้ตลาดซื้อ

นายศุภวัฒน์ สุจริตพันธ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่โกโก้ท่าศาลา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาโกโก้ที่พุ่งสูงในตลาดโลกไม่ได้ส่งผลต่อราคาซื้อขายโกโก้ภายในประเทศไทย ปัจจุบันวิสาหกิจฯ รับซื้อผลสดจากสมาชิกที่ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์ชุมพร 1 ราคากิโลกรัมละ 7-8 บาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากการแปรรูป ซึ่งสถานการณ์ตลาดโกโก้ปัจจุบันไม่สู้ดีนัก เนื่องจากไม่มีพ่อค้าเข้ามารับซื้อ

ที่มาของวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่โกโก้ท่าศาลาเป็นการรวมกลุ่มกันของชาวสวนโกโก้ในพื้นที่อำเภอท่าศาลา 40 ราย รวมพื้นที่กว่า 815 ไร่ จากกระแสความนิยมปลูกโกโก้เมื่อหลายปีก่อน โดยมีนายหน้าเข้ามาหลอกขายต้นพันธุ์ พร้อมให้คำสัญญาว่าจะเข้ามารับซื้อในราคาสูง และจะตั้งโรงงานรับซื้อผลผลิต และมีอยู่ช่วงหนึ่งราคาโกโก้พุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 40-50 บาท

ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อลงทุนซื้อต้นพันธุ์ และไม่มารับซื้อตามสัญญาสร้างความเดือดร้อนจนต้องแก้ปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาเพื่อรวบรวมผลผลิตทั้งหมด หาพ่อค้ามารับซื้อรวมถึงนำมาแปรรูปเพื่อไม่ให้ขาดทุน และผลผลิตเสียหาย

นางสาวบุญเรือน ยกย่อง ตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้พรีเมี่ยมท่าศาลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งปลูกโกโก้ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ส่วนใหญ่เป็นการปลูกผสมกับพืชหลัก เช่น มะพร้าว ยางพารา มังคุด และปาล์ม โดยริเริ่มปลูกกันตั้งแต่ปี 2525 โดยผู้นำชุมชนนำต้นพันธุ์มาจากมาเลเซียกลายมาเป็นพันธุ์ดั้งเดิมในปัจจุบัน

สำหรับราคาที่มีการซื้อ-ขายกันในตลาดโกโก้บ้านเรา ผลสดรับซื้อเฉลี่ย 8 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผลแห้ง 250 บาทต่อกิโลกรัม มีการเก็บผลผลิตทุกๆ 15 วัน เนื่องจากง่ายต่อการหมักและได้เมล็ดที่สวยงาม เฉลี่ยแล้วผลผลิตตกอยู่ที่รอบละ 1,000 กิโลกรัม

หลายคนมองว่า โกโก้ราคานี้น่าจะสามารถสร้างรายได้มหาศาล แต่ในทางกลับกันได้สร้างความวิตกให้กับเกษตรกรอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

เนื่องจากตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2560 ที่โกโก้เริ่มได้รับกระแสนิยม ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมาปลูก เพราะมีการส่งเสริมการปลูกและขายพันธุ์ โดยมีกลุ่มนายหน้าเข้ามาหลอกขายต้นพันธุ์ และทำสัญญาว่าจะรับซื้อผลผลิต 40 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลับลอยแพชาวบ้านจำนวนมาก และไม่มีตลาดรองรับจนประสบภาวะขาดทุนจำนวนมาก เพราะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าต้นพันธุ์ ค่าบำรุงดูแล และค่าแรง หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว เหลือรายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อปี

ที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริม สนับสนุน รวมถึงมีการนำผลวิจัยไปต่อยอด และเริ่มมีกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามารับซื้อ จึงอยากให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีเกษตรกรบางส่วนต้องการให้กลุ่มยื่นขอใบรับรองคุณภาพ แต่ขาดต้นทุนในส่วนนี้ หากได้รับแรงสนับสนุนสามารถผลักดันโกโก้ของกลุ่มวิสาหกิจไปได้อีกขั้น

หนุนแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

ด้าน นางสาวศิริพร สิงห์ใจ เจ้าของสวนโกโก้บ้านสวนฟิวฟอร์ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาโกโก้ที่ปรับตัวขึ้นสูงในตลาดโลกไม่ได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ภายในประเทศไทยปรับขึ้นตามไปด้วย เพราะผลผลิตโกโก้ไทยไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามารับซื้อเหมือนในต่างประเทศ และขาดการส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน

“ช่วง 2-3 ปีก่อน ทางสวนเริ่มปลูกโกโก้ โดยมีบริษัทในจังหวัดเชียงรายด้วยกันนำต้นพันธุ์ชุมพร 1 มาขายให้ โดยทำสัญญากับเกษตรกรว่าจะกลับมารับซื้อผลผลิตไปแปรรูปผ่านโรงงานของบริษัทเอง โดยให้ราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท”

แต่ช่วงหลังๆ บริษัทดังกล่าวมีปัญหา ไม่ได้เข้ามารับซื้อผลผลิตและปฏิเสธการจ่ายค่าเสียหายให้กับเกษตรกรกว่า 1,000 ราย จนเกิดการฟ้องร้องทางกฎหมาย ทางสวนจึงหันมาแปรรูปผลผลิตเอง ซึ่งราคาตอนนี้ถือว่ายังอยู่ในจุดที่สามารถประคับประคองต่อไปได้”

ด้าน นางสาวโสภาวรรณ ศิริมา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จริงๆ ไม่ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกโกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับแน่นอน แต่ช่วงหลังเกษตรกรมีการรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจฯ และทางกรมส่งเสริมการเกษตรเองก็เข้าไปแก้ไขปัญหาให้กรณีไม่มีคนรับซื้อ พร้อมช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น ขอเครื่องหมายรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

และส่งเสริมการแปรรูป ตอนนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาดูแลและผลักดันโกโก้ท่าศาลาให้เข้าสู่อุตสาหกรรมโกโก้ โดยพัฒนาศักยภาพการผลิต ตั้งแต่ต่อยอดการหมัก และนำนวัตกรรมเข้ามาเสริม, พาเกษตรกรไปดูงาน, สอนทำบัญชีต้นทุน

“ถ้าผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมไม่ได้ ไม่มีฐานการตลาดรองรับ จะผลักดันโกโก้ให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักไม่ได้”

“มาร์คริณ” ชี้ผู้ซื้อโลกมองไทยเเหล่งวัตถุดิบสำรองการเคลื่อนไหวของราคาโกโก้ในตลาดโลก จะส่งผลดีต่อราคาการซื้อขายโกโก้ภายในประเทศไทยมากน้อยอย่างไร คงต้องให้ผู้คร่ำหวอดในแวดวงโกโก้ มาสะท้อนภาพและมุมมองที่น่าสนใจ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “กนกเกศ ละอองศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาร์คริณ ช็อกโกแลต จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิตและแปรรูปช็อกโกแลตรายใหญ่ ภายใต้แบรนด์ MarkRin Chocolate ว่า MarkRin เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้ เเละช็อกโกแลตที่ครอบคลุมการผลิตเเละการควบคุมคุณภาพตั้งเเต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

เริ่มจากการพัฒนาสายพันธุ์โกโก้สายพันธุ์คุณภาพสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธุ์โกโก้ในประเทศไทย คือ พันธุ์ ไอ.เอ็ม.1 หรือ I.M.1 โดยมีการกระจายไปยังเกษตรกรสมาชิก เเละรับซื้อคืนเป็นผลผลิตเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการแปรรูปหลังเก็บเกี่ยว หรือการหมัก และตากเมล็ดโกโก้เเห้ง

ปัจจุบันตลาดมีทั้งกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหาร เเละการขยายแบรนด์ทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้

สำหรับราคาโกโก้ที่พุ่งขึ้นสูงเป็น All Time High กว่า 300% เมื่อเทียบภายในระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากความต้องการที่สูงและปริมาณผลผลิตที่ลดลงอย่างมาก ประมาณ 13-15% บริษัทใหญ่ของโลก อย่าง Barry Callebaut เองก็จำเป็นที่จะต้องเพิ่มราคาสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อรับกับสภาพราคาของต้นทุนของเมล็ดโกโก้ในปัจจุบัน

เหตุผลที่ทำให้ปริมาณโกโก้ลดลงจนมีราคาเพิ่มขึ้นได้มากขนาดนี้ เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้ง ทำให้ปริมาณการออกผลของโกโก้ลดลงอย่างมากนอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาพอากาศแล้ว ยังมีเรื่องโรคเชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียในผลผลิตอย่างมาก และเสี่ยงต่อการตายของต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอายุต้นโกโก้ที่แก่มากทำให้เก็บเกี่ยวได้น้อยลง ต้นโกโก้ที่แก่มากเกินไปก็ตายตามธรรมชาติ การปลูกต้นโกโก้ขึ้นมาเพื่อทำการทดแทนต้องใช้ระยะเวลานาน 3-4 ปีขึ้นไป จากเหตุผลเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตที่ต้องการใช้เมล็ดโกโก้หลายรายมีความกังวลว่า เมล็ดโกโก้จะขาดแคลนและเริ่มที่จะกักตุนเมล็ดโกโก้แห้ง อย่างไรก็ตาม ราคาในตอนนี้ถูกตั้งขึ้นโดยเหล่า Trader ส่วนเกษตรกรที่ปลูกต้นโกโก้จริงๆ ก็ไม่ได้มีกำไรที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาโกโก้ที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลกไม่มีผลต่อราคาโกโก้ในประเทศไทย เพราะถึงเเม้ว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์โกโก้เเละช็อกโกแลตไทยจะได้รับการยอมรับเเละเป็นที่รู้จักแล้วในระดับหนึ่ง เเต่ยังถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดโกโก้ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีความแตกต่างจากตลาด Craft Chocolate ที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)

นอกจากนี้ ผู้นำเข้าและผู้ซื้อโกโก้รายใหญ่จากทั่วโลกให้ความสนใจโกโก้ไทยเพื่อเป็นเเหล่งวัตถุดิบสำรอง จากสภาวะวัตถุดิบขาดแคลนเเละขึ้นราคาสูงในปัจจุบัน ซึ่ง MarkRin หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อโกโก้ไทยได้มีชื่อเสียงในตลาดสากลมากขึ้น จะมีอำนาจในการต่อรองราคาตามตลาดได้ต่อไป เช่นเดียวกันกับตลาดข้าว หรือผลไม้ไทยที่มีการพัฒนาการตลาดมาอย่างยาวนาน และสั่งสมชื่อเสียงที่ดีมาจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/local-economy/news-1548995