7 เดือนส่งออกพุ่ง ปรับเป้าเป็น 6% ผิดกับดัชนีอุตฯ ต่ำสุด-สอท.ชี้ใช้จ่ายในปท.ซึม

ส่งออก 7 เดือนขยายตัวต่อเนื่อง ‘พาณิชย์’ ปรับเป้าส่งออกใหม่เพิ่มเป็น 5-6% จากเดิม 3.5-5.5% ส.อ.ท. รายงานดัชนีอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดรอบ 10 เดือน ชี้ใช้จ่ายในประเทศซบ ติงยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวถึงการส่งออกของไทยในปี 2560 ว่า ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาพบว่า การส่งออกของไทยเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สนค.จึงได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกใหม่อยู่ที่ระหว่าง 5-6% หรืออาจถึง 6.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.5-5.5%

ค่าเฉลี่ยในช่วงที่เหลือของปีระหว่างกรกฎาคม-ธันวาคม 2560 จะมีมูลค่า 19,182 ล้านดอลลาร์ รวมมูลค่าการส่งออกในช่วงเดือนที่เหลือ คาดว่าจะอยู่ที่ 95.912 ล้านดอลลาร์ หรือทั้งปี 228,311 ล้านดอลลาร์ ภายใต้สมมติฐานค่าเงิน 34.0-36.0 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมัน 45-55 บาท/บาร์เรล เศรษฐกิจขยายตัว 3.5% ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขขยายตัว 8-10% สินค้าเกษตรขยายตัว 3-5%

แนวโน้มการส่งออกปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญในแถบเอเชีย สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการกลับมาขยายตัวระดับสูง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง

สินค้าที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้าว ขยายตัวถึง 98.8% ถือเป็นผลงานรัฐบาลที่ระบายข้าวจากสต๊อกรัฐบาลได้ ทำให้ไม่มีแรงกดดันเรื่องราคา ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง 61.4% ฯลฯ รวม 7 เดือนแรก กลุ่มนี้ขยายตัว 15.2% สินค้าอุตสาหกรรมรถยนต์อุปกรณ์ กลับมาขยายตัว 22.3% ผลิตภัณฑ์ยาง 45.7% รวม 7 เดือนแรกกลุ่มนี้ขยายตัว 7.2%

การนำเข้ามีมูลค่า 19,040 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 18.5% ส่งผลให้การค้าขาดดุล 188 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการขาดดุลครั้งแรกในรอบ 27 เดือน ตั้งแต่เมษายน 2558 เป็นต้นมา รวม 7 เดือน การนำเข้ามีมูลค่า 125,616 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.5% และการค้าเกินดุล 6,783 ล้านดอลลาร์

วันเดียวกัน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 83.9 ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ 84.7 ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับจากเดือนกันยายน 2559 อยู่ที่ระดับ 84.8 เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ฟื้นตัวไม่ดีนัก

“ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศจากภาครัฐเท่าที่ควร เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ที่จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ” นายเจน กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด