คุยกับ “ณัฐศศิ มณีโชติ” โรงงานปาล์ม หนึ่งเดียวในปัตตานี

ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากบริษัท สหกรณ์นิคมบาเจาะ จำกัด จังหวัดนราธิวาสแล้ว ผู้ประกอบการปาล์มน้ำมันมีอีกเพียงรายเดียว คือ บริษัท ปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด ตั้งอยู่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2554 ภายใต้การบริหารของ “ณัฐศศิ มณีโชติ” ผู้จัดการทั่วไป ซึ่งเป็นเจนที่ 2 ของตระกูลมณีโชติ และเป็นผู้บริหารรุ่นแรกของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

ณัฐศศิเล่าว่า เดิมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไม่ค่อยปลูกปาล์ม เนื่องจากไม่มีโรงงานในพื้นที่ มีเพียงแห่งเดียวที่บาเจาะ ขณะที่ครอบครัวทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง กระทั่งวันหนึ่งเกษตรกรมาถามคุณพ่อว่า ถ้าปลูกปาล์มจะไปส่งที่ไหน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาเรื่องปาล์ม และสร้างโรงงาน

ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง สามารถรองรับปาล์มได้วันละ 1,000 ตัน โดยปี 2559 มูลค่าการรับซื้ออยู่ที่ 900 กว่าล้านบาท แต่เป็นผลผลิตในพื้นที่ 3 จังหวัด เพียง 30% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด

เหตุผลหลักที่ผลผลิตในพื้นที่น้อย เพราะเกษตรกรไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปลูกปาล์ม ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ บางรายผลิตได้เพียง 1 ตัน/ไร่/ปีเท่านั้น โรงงานจึงร่วมกับสมาชิกเกษตรกรกว่า 1,000 คน ให้ความรู้ และกระตุ้นให้ตื่นตัวด้วยการจ่ายเงินปันผลให้ 10% ของผลผลิตที่เข้าสู่โรงงาน เป้าหมายระยะแรกต้องการให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตเพิ่มเป็น 3 ตัน/ไร่/ปี

และเพื่อรองรับผลผลิตที่จะเพิ่มมากขึ้น โรงงานอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิต ใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เพิ่มขนาดการผลิตที่ 60 ตันทะลาย/ชั่วโมง ในปี 2561 และปี 2563 เพิ่มเป็น 120 ตันทะลาย/ชั่วโมง หรือราว 2,000 ตัน/วัน ตั้งเป้าอนาคตจะรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ 70% และนอกพื้นที่ 30%

ณัฐศศิบอกอีกว่า การขยายโรงงาน แม้จะเพิ่มการจ้างงานอีกไม่มากนัก เนื่องจากการผลิตหลัก ๆ ใช้เครื่องจักร แต่มองว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เกษตรกรที่เพาะกล้าพันธุ์ดี ๆ ไว้ขาย และธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะโตตาม เช่น กลุ่มรับจ้างปลูก รับจ้างตัด เป็นต้น


นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเส้นใยที่ได้หลังการหีบน้ำมัน นำไปเป็นเชื้อเพลิงของบอยเลอร์ และขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนเมล็ดที่ยังไม่กะเทาะ จะแยกได้ 2 ส่วน คือ กะลา กับเมล็ดในอบแห้ง ในส่วนกะลานำไปเป็นเชื้อเพลิง เมล็ดในนำเข้าโรงหีบน้ำมันเมล็ดใน สามารถใช้ทำสบู่ ครีมเทียม และขณะนี้โรงงานมีแผนขยายทำโรงงานน้ำมันเมล็ดในด้วย ส่วนกากที่เหลือจะส่งต่อเข้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

สำหรับทะลายที่เหลือยกให้เกษตรกรฟรี เพื่อนำไปใส่โคนต้นปาล์มบำรุงหน้าดิน บางรายนำไปเพาะเห็ดโคนน้อยเป็นอาชีพเสริม ได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 400 บาท

ในส่วนของน้ำเสียจากอุตสาหกรรมปาล์ม ได้ส่งไปยังโรงไบโอแก๊ส ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นำไปหมักเพื่อผลิตแก๊ส ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 2 เมกะวัตต์ และเพื่อรองรับกำลังการผลิตปาล์มในอนาคต น้ำเสียก็จะมากขึ้น วางเป้าหมายว่าอนาคตจะขายไฟฟ้าที่ 4.8 เมกะวัตต์ และสุดท้าย เป้าหมายของโรงงาน คือ ซีโร่เวสต์ กำจัดหมดในโรงงาน

ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องสถานการณ์ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ณัฐศศิยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยประสบ คือ สถานการณ์ล้มเสาไฟฟ้าแรงสูง โรงงานหยุดการผลิต แต่หยุดการรับซื้อไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถหีบปาล์มได้ทัน ส่งผลเรื่องคุณภาพจนโดนตีกลับเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ค่าประกันภัยของพนักงานที่ต้องเสี่ยงเมื่อออกพื้นที่ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

กระนั้นการพัฒนาพื้นที่จะหยุดลงไม่ได้ ณัฐศศิบอกว่า การที่ตนเองเป็นภาคเอกชน และพอมีกำลังก็ต้องช่วยกัน มองว่าหากใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ ในการขับเคลื่อนให้คนมีงานทำ มีรายได้ อาจเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยลดปัญหาในพื้นที่ลงได้บ้าง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์