ความสำคัญของระบบตรวจสอบย้อนกลับในอุตสาหกรรมอาหาร

ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) คือ ระบบที่ภาคการผลิตจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจต่อการซื้อสินค้ากลไกของระบบเป็นกระบวนการประกันความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันคุณภาพเกี่ยวกับการปนเปื้อนของอันตรายในอาหาร โดยทั่วไประบบการตรวจสอบย้อนกลับใช้กับกรณีที่เกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอันตรายของอาหาร ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้ว อาศัยระบบที่มีประสิทธิภาพผู้บริโภค ภาคการผลิต และภาครัฐที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังเส้นทางของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ ได้ และแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสูญเสียจากการเรียกคืนสินค้า ทำให้ภาคการผลิตสามารถเรียกคืนสินค้าได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และในปริมาณที่ควรจะเป็น

กลไกของการตรวจย้อนกลับเกิดขึ้นเพื่อติดตามที่มาของสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนมีกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลของสินค้า เพื่อใช้สำหรับอำนวยความสะดวกในการเรียกตรวจสอบข้อมูล ส่งผลให้การติดตามที่มาของสินค้าเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ประกอบด้วย กระบวนการที่สำคัญ 2 กระบวนการ คือ การติดตาม (Following) เป็นระบบที่ใช้ติดตามสิ่งที่สนใจนั้นว่าเข้าสู่ตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทาน หรือเรียกได้ว่า เป็นกระบวนการค้นหาปลายทางของสินค้า กระบวนการถัดมาคือ การสืบย้อนกลับ (Tracking) เป็นความสามารถของระบบที่จะให้ข้อมูลได้ว่า สินค้าที่มีปัญหาผลิตขึ้นเมื่อใด จากสายการผลิตใด และรับวัตถุดิบมาจากแหล่งใด ทั้งนี้เพื่อค้นหาว่าจุดใดที่ก่อให้เกิดปัญหา และจุดนั้นผลิตสินค้าออกไปมากน้อยเพียงใด รวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตเพื่อเรียกคืนสินค้าได้อย่างถูกต้อง การสืบย้อนกลับเป็นการค้นหาต้นทางของสินค้าเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการหาปลายทางของสินค้า

ผู้บริโภคทั่วไปมีความคาดหวังกับคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินค้าอาหาร” ต้องมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค ระบบการตรวจสอบย้อนกลับสามารถทำให้ภาคการผลิตเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคข้อนี้ได้ เมื่อภาคการผลิตใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ควบคู่ไปกับระบบมาตรฐาน และระบบความปลอดภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะช่วยเป็นข้อมูลที่ใช้บ่งชี้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ทำให้ง่ายขึ้นที่จะคัดเลือกวัตถุดิบ ค้นหาสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

สำหรับประโยชน์ทางธุรกิจต่อภาคการผลิตนั้น ระบบการตรวจสอบย้อนกลับจะช่วยให้สามารถระบุแหล่งที่มา หรือปลายทางของปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และชัดเจน ส่งผลให้เกิดการตอบสนองที่รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นแล้ว ระบบการตรวจสอบย้อนกลับยังสามารถปกป้อง และขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าได้ เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันความสามารถของการจัดการกับปัญหา และสามารถผลิตสินค้าอาหารให้บรรลุมาตรฐานด้านความปลอดภัยและคุณภาพ

แบะนับตั้งแต่กพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และให้ผู้บริโภคไดรับการชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นธรรม การตรวจสอบย้อนกลับยิ่งทวีความสำคัญสำหรับภาคการผลิตมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ผู้บริโภคเองควรตระหนักรู้ถึงความสำคัญของระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเลือกบริโภคสินค้าอาหารที่มีความปลอดภัยมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รชา เทพษร

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)

www.cpfworldwide.com