กรมการข้าว ยันระบบนาแปลงใหญ่ ช่วยชาวนาลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเฉลี่ย 20% จากเดิม

นายสุวัฒน์ เจียระคงมั่น รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยถึงผลการการดำเนินโครงการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ หรือนาแปลงใหญ่ว่า จากเดิมโครงการนาแปลงใหญ่ที่กรมการข้าวดำเนินการนั้นรับสมัครเกษตรกรรวมกลุ่มตั้งแต่ 50 รายขึ้นไป พื้นที่รวมกัน 1,000 ไร่ขึ้นไป ทำให้มีกลุ่มที่เข้าร่วมดำเนินการในปี 2559 ที่ผ่านมาจำนวน 425 กลุ่ม คิดเป็นพื้นที่รวมกันประมาณ 1 ล้านไร่ จากพื้นที่ทำนาทั้งประเทศกว่า 60 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ โดยลดจำนวนเกษตรกรเหลือกลุ่มละ 30 รายขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกัน 300 ไร่ขึ้นไป และไม่จำเป็นต้องเป็นแปลงติดกันเป็นผืนเดียวกัน แต่ควรมีพื้นที่อยู่ภายในชุมชนใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มีกลุ่มเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการในปีนี้อีกจำนวน 750 กลุ่ม รวมเป็น 1,175 กลุ่ม คิดเป็นพื้นที่นาแปลงใหญ่ 1.799 ล้านไร่

ในอดีตการผลิตข้าวของประเทศไทย เกษตรกรจะทำนาแบบต่างคนต่างทำ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตสูง ประสิทธิภาพการผลิตค่อนข้างต่ำ รายได้เกษตรกรจึงต่ำตามไปด้วย รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมการข้าวดำเนินโครงการนาแปลงใหญ่ โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร มีหน่วยงานภาครัฐบูรณการร่วมกับภาคเอกชน เข้าไปถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนมีการเชื่อมโยงการตลาด เกษตรกรมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น การรวมกันซื้อปัจจัยการผลิตทำให้ต้นทุนต่ำลง รวมกันผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ

ที่ผ่านมามีกลุ่มนาแปลงใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ปลูกข้าวคุณภาพระดับประเทศประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมทำนาแปลงใหญ่ เช่น กลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้บ้านจันทร์หอม ตำบลหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 20% จากเดิม ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20% ที่สำคัญมีการแปรรูปผลผลิตเป็นข้าวสารที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน GAP จากกรมการข้าว สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต ยกระดับรายได้ของสมาชิกกลุ่ม ก่อเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560