เกษตรเขต 2 เตือนชาวนา ระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลรุมกินโต๊ะนาข้าว

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงนี้มีฝนตกชุกหลายพื้นที่ หลังจากฝนตกทำให้อากาศร้อนชื้น และมีแดดจัดในช่วงกลางวัน เหมาะต่อการระบาดของศัตรูพืช โดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งเป็นศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่สร้างความเสียหายต่อเผลผลิตข้าวของเกษตรกร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง 2-3 รอบการผลิตต่อปี ทำให้ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดให้หมดไปได้ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการดื้อยา นอกจากนี้ สารเคมียังไปทำลายศัตรูธรรมชาติที่คอยกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ส่งผลให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น จนบางพื้นที่ความเสียหายรุนแรงถึงขั้นไม่มีผลผลิตเลย เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถทำลายต้นข้าว โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งตายเป็นหย่อมๆ ส่วนใหญ่จะพบตั้งแต่ระยะแตกกอถึงออกรวง อีกทั้งยังเป็นพาหะของโรคใบหงิกในข้าวอีกด้วย จึงขอแจ้งเตือนชาวนาให้คอยติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบการระบาดที่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้สำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแปลงนาที่ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และ กข 35

ด้าน นายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2-3 ตัว/กอ และเป็นระยะตัวอ่อนที่ยังไม่มีปีก แนะนำให้ใช้สารสกัดสะเดาผสมสารจับใบฉีดพ่นต่อเนื่อง 2-3 ครั้ง ทุก 5 วัน ในช่วงเย็นหรือช่วงแสงแดดอ่อน แต่ถ้าพบส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยมีปีก แนะนำให้ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่นในช่วงแสงแดดอ่อนหรือช่วงเย็น โดยใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย 1 กิโลกรัม/น้ำ 40 ลิตร ผสมสารจับใบ ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องทุก 5 วัน หรือใช้กับดักแสงไฟจับตัวเต็มวัยมาทำลายควบคู่กันไปด้วย ถ้าในแหล่งที่พบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หากสามารถควบคุมระดับน้ำได้ตั้งแต่ช่วงหลังปักดำหรือหว่านข้าวแล้ว 2-3 สัปดาห์ จนถึงระยะตั้งท้อง ควรควบคุมระดับน้ำในนาให้พอดินเปียกหรือมีน้ำเรี่ยต้น นาน 7-10 วัน แล้วปล่อยให้น้ำขังทิ้งไว้ให้แห้งสลับกัน จะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้

สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากจำเป็นต้องใช้สารเคมีต้องคำนึงถึงความถูกต้องและปลอดภัย เช่น ในระยะแตกกอพบตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัว/กอ ให้ใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน หรือสารอีโทเฟนพรอกซ์ ส่วนในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัว/กอ และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบในปริมาณน้อย แนะนำให้ใช้สารไดโนทีฟูแรนหรือสารคาร์โบซัลเฟน ที่สำคัญการเลือกปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็สามารถลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น พันธุ์พิษณุโลก 2 สุพรรณบุรี 2 กข 41 กข 47 และ กข 49 เป็นต้น แต่ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวกันติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ฉะนั้นการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ได้ผลดีต้องใช้วิธีผสมผสานควบคู่กันไปและเกษตรกรควรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 18 ตุลาคม 2560