มะเขือเทศทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง 5 แสนตัน กระทรวงวิทย์ สถานทูตอิสราเอล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเอกชน ร่วมมือจัดสัมมนา 1 พฤศจิกายน 2560

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสถาน-เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท New Grow Plant และ Noga AgroTech Desert Agriculture มีกำหนดจัดงานสัมมนาวิชาการ  “The Thai-Israeli Tomato Conference: The current status and the way forward”  ในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ตั้งแต่เวลา 08.30-17.15 น. ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยเชิญผู้สนใจจากทั้งหน่วยงานภาคการศึกษา การวิจัย และ ภาคธุรกิจร่วมฟังการบรรยาย และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสปการณ์จากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและอิสราเอล

จากข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับปริมาณมะเขือเทศที่เข้าสู่ตลาดในปี 2560 จาก World Processing Tomato Council (WPTC) มีการคาดการณ์ถึงปริมาณมะเขือเทศที่ลดลงอย่างมากจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลกก็มีตัวเลขผลผลิตที่ลดลงเช่นกัน แนวโน้มผลผลิตมะเขือเทศในปี 2560 จะลดลงมากกว่า 500,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตสุดท้ายอาจต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของช่วง 3 ปีที่ผ่านมาราวร้อยละ 5 ถึง 6 ซึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตที่ลดปริมาณลง และคุณภาพของมะเขือเทศต่ำลง (ค่าความหวานต่ำ) ความเสียหายที่เกิดจากการผลิตมะเขือเทศเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การรบกวนของโรคและศัตรูพืช ในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการในเชิงปริมาณที่มากขึ้น คุณภาพดีขึ้น รวมทั้งรสชาติและโภชนาการที่สูงขึ้นด้วย ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์และการผลิตที่มีประสิทธิภาพในโรงเรือนอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่คุณภาพและลักษณะที่สม่ำเสมอ การผลิตที่แน่นอนขึ้น ผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกที่เพิ่มขึ้น และความ สามารถของเกษตรกรที่จะควบคุมปริมาณผลผลิตตลอดทั้งปีได้ โดยใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตน้อยลง และเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ลดลง

ทั้งนี้แม้ว่าอิสราเอลจะเป็นประเทศที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง แต่อิสราเอลกลับมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำด้านเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศและการปลูกพืชในระบบโรงเรือนในลำดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ความสามารถของอิสราเอลเกิดจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ก้าวหน้า ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิด “การปลูกเพื่อให้ได้(ผลผลิต)มาก ด้วยปัจจัยการผลิตที่น้อย”  อิสราเอลประสบความสำเร็จในการครองส่วนแบ่งการตลาดมะเขือเทศในตลาดโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป

ในขณะที่ประเทศไทยต้องการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการเกษตร  โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงพันธุ์ การปลูกพืชในระบบปิด และการควบคุมคุณภาพผลผลิต นับเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานพันธมิตรฝ่ายไทยและอิสราเอลจะได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน โดยผ่านการสนับสนุนจากสวทช. และสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ในการรับฟังการบรรยายด้านการปรับปรุงพันธุ์และการปลูกมะเขือเทศในระบบโรงเรือน จากประสบการณ์ของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถของการปรับปรุงพันธุ์ การผลิตผลสด และเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศของประเทศไทย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ตลอดจนการแสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งในด้านการวิจัยและการค้าระหว่างกันต่อไป

สำหรับความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และประเทศอิสราเอล  สวทช. ได้ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือตามแนวนโยบายการทูตเชิงวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกในการสนับสนุน  ทั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน ตามสาขาวิชาที่เป็นความสนใจของทั้งไทยและอิสราเอล รวมทั้งที่เป็นวาระที่สำคัญในระดับนานาชาติ อาทิ เทคโนโลยีการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ ทั้งนี้ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา สวทช. และอิสราเอล. ได้จัดกิจกรรมที่เป็นการสัมมนาวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการบรรยายพิเศษ รวม 17 ครั้ง  ซึ่งในปีที่เก้าของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านวทน. นี้ เรามุ่งหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร