ปรับวิธีจ้างแรงงานประมง จ่ายสูงเฉลี่ยวันละ 400 บาท

กรมการจัดหางานเปลี่ยนวิธีจ้าง ‘แรงงานประมง’ จ่ายเป็นเงินเดือนขั้นต่ำ 12,000 บาท ลูกจ้างเบิกผ่านทางธนาคาร หวังดึงดูดให้คนไทยหันกลับมาทำงานภาคประมงทดแทนนำเข้า

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเตรียมปรับเปลี่ยนวิธีจ้างแรงงานประมงเป็นแบบเงินเดือนขั้นต่ำ 12,000 บาท และจ่ายผ่านทางธนาคาร เพื่อดึงดูดให้คนไทยหันกลับมาทำงานประมง ว่า งานภาคประมงเป็นงานที่ลำบากกว่างานบนบก ดังนั้น เมื่อค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างบนบก คนจึงไม่นิยมทำ ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น แม้แต่แรงงานต่างด้าวก็จะเลือกไปทำงานบนบก เพราะงานสบายกว่า ค่าจ้างสูงกว่า จึงเป็นที่มาของการจ้างงานแบบเงินเดือนขั้นต่ำ 12,000 บาท ซึ่งหากเฉลี่ย 30 วัน ได้รับวันละ 400 บาท ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วไปที่ให้เพียงวันละ 300 บาท จึงถือว่าเป็นอัตราค่าจ้างที่สูง คาดว่าจะสามารถดึงดูดให้คนหันมาสนใจแรงงานภาคประมงได้มากขึ้น ที่สำคัญคือจ่ายแบบเงินเดือนผ่านธนาคาร เพราะลูกจ้างกลับขึ้นบกก็สามารถกดเอทีเอ็มเพื่อรับเงินได้ทันที

“ในอดีตคนอีสานเข้ามาทำงานภาคประมงกันมาก เนื่องจากค่าจ้างสูงกว่าการทำงานบนบก เช่น ลงเรือ ค่าจ้างประมาณ 300 บาท ส่วนบนบก 150 บาท แต่งานบนบกมีการพัฒนามากขึ้น เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ค่าแรงก็เพิ่มขึ้นจนทัดเทียมกันกับแรงงานภาคประมง ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่คนจะเลือกทำงานที่สบายกว่าและค่าตอบแทนพอๆ กัน ขณะที่การจ้างงานประมงไม่มีการเพิ่ม จึงต้องมีการพัฒนาการจ้างงานประมงให้สูงกว่าการทำงานบนบก เพื่อดึงดูดคนมาทำงาน” นายอนุรักษ์ กล่าวและว่า แนวคิดนี้ก็ริเริ่มมาจากนายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างงานใหม่ และมีการเจรจากับทางการพม่าในการส่งแรงงานมาทำงานภาคประมงแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ อธิบดีกรมแรงงานพม่าจะเข้ามาหารือด้วย

ด้าน นายภัทรวุธ เภอแสละ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า สำหรับการต่ออายุแรงงานต่างด้าวภาคประมงกลุ่มบัตรสีชมพู ขณะนี้ดำเนินการไปได้ประมาณ 20,000 คน จากทั้งหมดกว่า 90,000 คน โดยแรงงานกลุ่มดังกล่าวมี 2 รุ่น คือ รุ่นที่บัตรสีชมพูหมดอายุในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งหากต่ออายุใบอนุญาตทำงานไม่ทันก็ต้องนำเข้าด้วยระบบเอ็มโอยู ส่วนอีกกลุ่มคือ บัตรหมดอายุเดือนมีนาคม 2561 ก็ยังมีเวลาดำเนินการ โดยแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้ไปต่ออายุส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มหมดอายุเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ดำเนินการ สำหรับการพิสูจน์สัญชาติและทำใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวกลุ่มที่ผ่านการจับคู่กับนายจ้าง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ พบว่าในส่วนของแรงงานพม่าขณะนี้ดำเนินการไปได้ร้อยละ 50 ส่วนแรงงานลาวนั้น ต้องกลับไปดำเนินการที่ประเทศต้นทางและกลับมาด้วยระบบเอ็มโอยู ส่วนแรงงานกัมพูชาดำเนินการไปได้ 2 ใน 3 แล้ว หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ก็จะหามาตรการรองรับเพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน