สนช.เร่งคลอดกม.ก่อนหมดวาระ แจงชาวชัยภูมิ-รบ.ไม่เรียกเก็บภาษีน้ำเกษตรกร

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมแก้วกัลยา จังหวัดชัยภูมิ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 พร้อมคณะ อาทิ พล.ท. จเรศักณิ์ อานุภาพ พล.ท. ชัยยุทธ พร้อมสุข พล.อ.อ. ธงชัย แฉล้มเขตร นายพรศักดิ์ เจียรณัย นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ พร้อมผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้อง พบปะประชาชนในพื้นที่กว่า 500 คน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ ทั้งส่วนราชการและในภาคประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ตามโครงการสนช.พบประชาชน

นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดที่ 70 ที่สนช.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชน ซึ่งสนช.เป็นสะพานเชื่อมระหว่างแม่น้ำ 5 สาย เพื่อรับฟังปัญหานำไปสู่การแก้ไข ซึ่งหลายปัญหาก็ได้รับการแก้ไข บางปัญหาอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข หากประชาชนมีปัญหาก็เสนอแนะต่อสนช.ได้

ด้าน นางกาญจนารัตน์ ชี้แจงการทำงานของสนช.ว่า ขณะนี้สนช.ได้พิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปแล้วว 7 ฉบับ โดย 1 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเหลืออีก 2 ฉบับ ที่รอให้ กรธ.ส่งมา คือกฎหมายการเลือกตั้งส.ส.และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับผ่านความเห็นชอบของสนช.และประกาศใช้แล้ว กกต.จะมีเวลา 150 วัน เพื่อดำเนินการเลือกตั้งให้เสร็จ จากนั้นเราจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ และเมื่อถึงเวลานั้น สนช.จะสิ้นสภาพก่อนวันประชุมสภานัดแรก

นางกาญจนารัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกฎหมายสำคัญที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ แยกเป็น 2 กลุ่ม 1. กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เช่น พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และ 2 กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น กฎหมายด้านการศึกษา กฎหมายกองทุนต่างๆ ซึ่งบางฉบับมีกำหนดเวลาต้องเสร็จภายในกี่วัน ในกลุ่มนี้มี 70-80 ฉบับ ซึ่งสนช.ต้องรับผิดชอบพิจารณากฎหมายเหล่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการรับฟังปัญหาของจังหวัดชัยภูมิ ส่วนใหญ่พบปัญหาเรื่องการเกษตร การคมนาคม แหล่งน้ำ ที่ดิน และยาเสพติด ทั้งนี้ ชาวบ้านได้สอบถามถึงกรณีรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีน้ำ ซึ่ง นายพรศักดิ์ เจียรณัย ในฐานะ กมธ.ว่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ชี้แจงว่าในร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้ที่มีกว่า 100 มาตรา ไม่มีมาตราใดเขียนไว้ว่าจะเก็บภาษีน้ำ และกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดของประเทศ และจะตั้งสำนักงานบริหารจัดการน้ำ จึงขอให้ทุกคนสบายใจว่าจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีน้ำจากเกษตรอย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน