สมุทรสาครแปรรูปมะนาว ปั้น “มีนาว” ขึ้นห้าง-ป้อนจีน

สมุทรสาครขึ้นแท่นแหล่งปลูกมะนาวอันดับ 3 ของประเทศ เกษตรกรแห่ปลูกเพิ่มกว่า 2,500 ไร่ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ หนุนจดทะเบียน GI ด้านสหกรณ์ปลูกมะนาวบ้านแพ้วฯ ไอเดียเจ๋ง แปรรูปมะนาว พร้อมปั้นแบรนด์ “มีนาว” เจาะกลุ่มรักสุขภาพ ร้านอาหาร วอนรัฐสนับสนุนโรงงานใหม่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต

นายเศรณี อนิลบล เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดสมุทรสาครมีพื้นที่ปลูกมะนาวประมาณ 8,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 2,500 ไร่ แต่ยังเป็นอันดับ 3 รองจากเพชรบุรี และราชบุรี เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาราคามะนาวสูงขึ้นจึงจูงใจเกษตรกรหันมาปลูกมะนาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกมากที่ อ.บ้านแพ้ว ประมาณ 80% ส่วนที่เหลือกระจายใน อ.เมือง และกระทุ่มแบน โดยพันธุ์มะนาวที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์แป้นพวงบ้านแพ้ว และพันธุ์แป้นรำไพ จุดเด่นคือ เปลือกบาง น้ำเยอะ และมีกลิ่นหอม จึงเป็นที่ต้องการของตลาด

ขณะที่ตลาดส่วนใหญ่เกือบ 100% เป็นการบริโภคในประเทศ แหล่งจำหน่ายหลักอยู่ที่ตลาดไท ซึ่งจะมีทั้งเกษตรกรรมกลุ่มไปจำหน่ายเอง และอีกส่วนมีพ่อค้ารวบรวมและกระจายอยู่ตามจุดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าจากทางภาคใต้มารับซื้อถึงหน้าสวน เพราะพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามะนาวจากภาคกลางประมาณ 90% โดยจะมารับซื้อที่ จ.สมุทรสาคร ราชบุรี และเพชรบุรี เนื่องจากสภาพภูมิอากาศภาคใต้ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับมีโรคแมลง ทำให้ผลผลิตออกน้อย ขณะที่ตลาดต่างประเทศนั้นจะมีพ่อค้ามารับซื้อในพื้นที่เพื่อไปคัดเกรด ทำความสะอาด และแพ็กเกจจิ้ง แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าส่งออกไปประเทศใด

ทั้งนี้มะนาวในสมุทรสาครประมาณ 80% เป็นการบริโภคผลสด ส่วนที่เหลือมีการนำไปแปรรูป เช่น น้ำมะนาวพร้อมดื่ม น้ำมะนาวแช่แข็งสำหรับทำอาหาร 15% และมะนาวดอง 5% อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งสหกรณ์การเกษตรผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว ดำเนินสะดวก จำกัด ขึ้นมา เพื่อรวบรวมผลผลิตในช่วงที่ราคาตกต่ำ โดยนำไปแปรรูปเป็นน้ำมะนาวพร้อมดื่มและน้ำมะนาวแช่แข็ง ทำให้มะนาวมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานงานและทำข้อมูลระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขึ้นทะเบียน GI มะนาวอีกด้วย

สำหรับการปลูกมะนาวในสมุทรสาครมี 2 ส่วน ได้แก่ 1. ปลูกตามฤดูกาล ซึ่งจะมีผลผลิตออกจำนวนมากประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม ทำให้มีราคาถูก โดยราคาหน้าสวนอยู่ที่ 0.20 บาทขึ้นไป/ลูก แต่ไม่เกิน 1 บาท/ลูก และ 2. การปลูกมะนาวนอกฤดูกาล โดยจะออกสู่ตลาดในเดือนธันวาคม-เมษายน ราคาหน้าสวน เกรดเออยู่ที่ลูกละ 2 บาทขึ้นไป ส่วนราคาในตลาดประมาณ 1-4 บาท/ลูก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาการดูแลมะนาวให้ติดดอกออกผลให้ได้ตลอด เนื่องจากมีโรครุมเร้ามาก ทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงหนอน แมลงต่างๆ รวมถึงบางช่วงในฤดูแล้งเกษตรกรจะประสบปัญหาน้ำเค็มรุก อีกทั้งในช่วงกลางปี 2560 ราคามะนาวค่อนข้างลดลง ซึ่งปัจจุบันเบอร์เล็กๆ ราคาประมาณ 0.20 บาท/ลูก แต่เมื่อไปถึงผู้บริโภคราคาไม่ต่ำกว่า 1 บาท/ลูก ไปจนถึงลูกละ 2-3 บาท นอกจากนี้ระยะหลังมีการนำพืชชนิดอื่นที่ให้รสเปรี้ยวมาใช้แทนมะนาว เช่น ส้มจี๊ด เป็นต้น

ด้านนายนิวัติ ปากวิเศษ ประธานสหกรณ์ผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว ดำเนินสะดวก จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย 13 จังหวัด เนื่องจากในปี 2554 มีการลักลอบนำเข้ามะนาวจากเวียดนามและกัมพูชาเข้ามาในช่วงที่มะนาวราคาแพง และนำมาผสมกับมะนาวไทย ทำให้ราคาผลผลิตในไทยตกต่ำ และมองว่าถ้าเปิดเออีซีคงต่อต้านไม่ได้ ในปี 2556 จึงรวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มในช่วงที่มะนาวมีราคาถูก ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 49 คน พื้นที่ปลูกราว 500 ไร่

ขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการแปรรูปเป็นน้ำมะนาวพร้อมดื่มแบรนด์มีนาว มีกำลังการผลิตไม่เกิน 4,000 ขวด/วัน เจาะตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพ และจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ได้แก่ เดอะมอลล์กรุ๊ป ฟู้ดแลนด์ ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนน้ำมะนาว 100% แช่แข็ง กำลังการผลิตอยู่ที่ 700 กิโลกรัม/วัน ตลาดจะเป็นกลุ่มร้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันต้องเช่าห้องเย็นในจังหวัดสมุทรสาครเพื่อเก็บสต๊อกน้ำมะนาวไว้

นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะแปรรูปเป็นเยลลี่มะนาว และน้ำมะนาวเข้มข้นที่นำไปทำเครื่องดื่ม แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เนื่องจากไม่มีเครื่องมือ เช่นเดียวกับการขยายการผลิตสินค้าทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งไม่สามารถส่งสินค้าให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น การบินไทย รวมถึงประเทศจีน ที่มีการเซ็นเอ็มโอยูแล้ว เนื่องจากกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอ เพราะไม่สามารถขยายโรงงานใหม่ ซึ่งได้ขอใช้สถานที่ที่เป็นที่รกร้างจากภาครัฐแล้ว แต่ยังต้องรอขั้นตอนทางราชการต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถขอมาตรฐาน GMP และ HACCP ได้ จึงไม่สามารถส่งออกหรือส่งสินค้าขึ้นเครื่องบินได้ หากภาครัฐเข้ามาส่งเสริมจะสามารถไปได้ไกล เพราะน้ำมะนาวเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดจีน

“ในรอบปีมะนาวจะมีราคาถูก 2 เดือน ประมาณเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม ราคาถูกที่สุด 0.10-0.20 บาท/ลูก แต่ 2 ปีมานี้ราคาตกต่ำต่อเนื่อง โดยราคาที่เกษตรกรสามารถอยู่ได้ที่ลูกละ 1 บาท จึงต้องรับภาระขาดทุนทุกเจ้า” นายนิวัติกล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 – วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2560