เผยแพร่ |
---|
นายเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดเผยในเวทีเสวนาเรื่อง “แนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์เซลล์ของภาคอุตสาหกรรม” ซึ่งร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจัดขึ้นว่า จากการที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำนวน 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ แต่จากการประเมินการติดตั้งจะเกิดซากแผงโซลาร์เซลล์สะสมหรือของเสียสูงถึง 7.5 แสนตัน หลังหมดอายุการใช้งานในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งแผงโซลาร์มีทั้งส่วนที่ไม่เป็นอันตรายและส่วนที่เป็นโลหะหนักที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมเพื่อหาแนวทางจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดอายุอย่างเหมาะสม
นายเอกบุตร อุดมพงศ์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ.ได้จัดทำแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์:เซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เพื่อกำหนดแนวทางการจัดการซากแผงโซลาร์ฯที่หมดอายุ ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าวิธีทำลายยังคงใช้วิธีฝังกลบเพราะยังไม่มีทางเลือกอื่น แม้ว่าการนำมารีไซเคิลจะเป็นวิธีที่ดีกว่าแต่ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจนกว่าจะเห็นว่ามีแผงโซลาร์หมดอายุที่มากพอ อย่างไรก็ตามล่าสุดมีเอกชนได้มายื่นขอใบประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลขยะจากโซลาร์เซลล์กับ กรอ.แล้วซึ่งจะเป็นโรงงานแห่งแรกในไทย
ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน