เปิดกฎ คุม ‘น้ำบาดาล’ ใครใช้ได้-แค่ไหน

กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าทลายแหล่งค้ามนุษย์ในสถานบริการอาบอวนนวด “วิคตอเรีย ซีเครท” ซอยพระราม9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพ มหานคร เมื่อวันก่อน และมีการขยายผลคดีจนนำไปสู่การตรวจสอบพบว่าสถานบริการอาบอบนวดแห่งนี้ มีการลักลอบใช้น้ำบาดาล 1 บ่อ ซึ่งล่าสุด กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สั่งปิดและแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งโทษคือ จำคุกไม่เกิน

6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกัน ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบอาบอบนวดอีก 47 แห่ง จาก 82 แห่งเป้าหมาย พบอีก 5 แห่ง มีข้อบ่งชี้ว่ามีการลักลอบขุดใช้น้ำบาดาลเช่นกัน เนื่องจากมีค่านำไฟฟ้าสูงเกินกว่าพื้นที่ใกล้เคียง จึงขอหมายศาลเข้าค้นหาบ่อบาดาล เพื่อแจ้งความเอาผิดตามกฎหมาย พร้อมส่งข้อมูลของแต่ละแห่ง ให้กับตำรวจขยายผลต่อไปนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางอรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ทส.กล่าวว่า โดยทั่วไปจะอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลได้เฉพาะในจุดที่น้ำประปายังเข้าไม่ถึง และอนุญาตให้เฉพาะบางหน่วยงานหรือสถานประกอบการที่มีความจำเป็นจะต้องมีน้ำไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง จะให้ขุดบ่อบาดาลสำรอง เช่น โรงพยาบาล วัด สถานีดับเพลิง หรือเขตอุตสาหกรรมเฉพาะ อย่างอุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง แต่กรณีอาบอบนวดที่มีการตรวจพบว่าใช้น้ำบาดาล ไม่พบว่ามีการขออนุญาต
จึงเข้าข่ายการลักลอบใช้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ตามระเบียบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การโอนใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการแก้ไขใบอนุญาตประกอบกิจการน้ำบาดาล พ.ศ.2550 ที่ออกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) น้ำบาดาล พ.ศ.2520 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ระบุว่า ผู้ใดประสงค์จะขอรับใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด ต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่ในเขตน้ำบาดาลนั้น

โดยผู้ที่ประสงค์จะขอใช้น้ำบาดาลอนุญาตให้ใช้ใน 4 ส่วนหลัก คือ 1.ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 2.ใช้ในกระบวนการผลิต 3.ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และ 4.ใช้เพื่อการเกษตรกรรม

ทั้งนี้ เฉพาะในท้องที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำผิวดิน อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลได้เลย แต่ในสำหรับท้องที่ที่มีแหล่งน้ำผิวดิน มีหลักเกณฑ์การใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำประปา ดังนี้

1.ประเภทธุรกิจ (อุตสาหกรรมหรือการค้า) อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลโดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลตามสัดส่วนการใช้น้ำของประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ

2.ประเภทอุปโภคบริโภค หรืออุปโภค ไม่อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล เว้นแต่ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้ อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาล และผ่อนผันให้ใช้น้ำบาดาลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปพลางก่อนจนกว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบแหล่งน้ำผิวดินได้ สำหรับสถานพยาบาล สถานทูต และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ

3.ประเภทเกษตรกรรม อนุญาตให้เจาะน้ำบาดาลได้ โดยอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาลร่วมกับน้ำผิวดินตามสัดส่วนที่เหมาะสม
ถามว่าพื้นที่ใดบ้างที่สามารถมีบ่อบาดาลสำรองได้ จากระเบียบดังกล่าวระบุว่า จะต้องเป็น 1.สถานที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำในยามฉุกเฉิน หรือกรณีเร่งด่วน เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาล ทั้งของรัฐและเอกชน 2.สถานที่เพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม เช่น สถานศึกษา หรือศาสนสถาน 3.สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ หรือมีความสำคัญของประเทศ เช่น ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือสถานที่สำคัญทางทหาร เป็นต้น 4.สถานที่ที่เป็นอาคารสูงหลายชั้น ไม่มีที่สำหรับสร้างถังเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ

5.สถานที่ที่ขอรับใบอนุญาตใช้น้ำบาดาลเพื่อเป็นบ่อสำรอง กรณีเกิดอัคคีภัย 6.สถานที่อื่นๆ ที่คณะกรรมการน้ำบาดาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สมควรให้เก็บบ่อน้ำบาดาลไว้เป็นบ่อสำรองได้ 7.สภาพบ่อน้ำบาดาล และคุณภาพน้ำบาดาลที่ใช้เป็นบ่อสำรองต้องใช้การได้ดี และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 8.บ่อน้ำบาดาลที่จะใช้เป็นบ่อสำรองกรณีเกิดอัคคีภัย ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง

สำหรับการพิจารณากำหนดปริมาณการใช้น้ำบาดาลนั้น ในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไป กล่าวคือ 1.เคหสถาน ครัวเรือนละไม่เกิน 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน (หากจำนวนครัวเรือนมีมากกว่า 6 คน ให้เพิ่มเฉพาะที่เกินกว่า 6 คน อีกคนละไม่เกิน 250 ลิตรต่อวัน) 2.อพาร์ตเมนต์ ตึกแถว หรือเรือนแถว ให้ใช้น้ำ หน่วยหรือห้องละไม่เกิน 2 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 3.หอพักให้ใช้น้ำห้องละไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 4.โรงแรม ให้ใช้น้ำห้องละไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน 5.โรงเรียน (ซึ่งไม่ได้รับนักเรียนประจำ) ให้ใช้น้ำคนละไม่เกิน 50 ลิตรต่อวัน 6.วัด หรือศาสนสถาน ให้ใช้น้ำบาดาลตามความเหมาะสม

7.สถานที่ราชการหรือสำนักงานเอกชน ให้ใช้น้ำคนละไม่เกิน 150 ลิตรต่อวัน 8.โรงพยาบาล ให้ใช้น้ำบาดาลตามความเหมาะสม 9.เขตนิคมอุตสาหกรรม คิดปริมาณน้ำ 7-10 ลูกบาศก์เมตรต่อวันต่อไร่ 10.Boiler คิดการสูญเสียการใช้น้ำประมาณ 80-100% 11.Cooling Tower, Air chiller คิดสูญเสียการใช้น้ำประมาณ 0.5-5% 12.หน่วยคอนกรีตผสมเสร็จให้ใช้น้ำในการผสมปูนประมาณ 170 ลิตรต่อคอนกรีต 1 ลูกบาศก์เมตร 13.โรงน้ำแข็ง น้ำแข็งซอง ความจุ 180 ลิตรต่อซอง น้ำแข็งหลอด 1 ตัน = 1 ลูกบาศก์เมตร 14.สถานีบริการน้ำมัน การล้างอัดฉีด ประเมินการใช้น้ำไม่เกิน 2 ลูกบาศก์เมตรต่อคันต่อวัน จำนวนผู้ใช้บริการห้องน้ำ ร้านค้า ร้านอาหาร ประเมินการใช้น้ำไม่เกิน 50 ลิตรต่อคนต่อวัน 15.รดต้นไม้ สนามหญ้า ในสนามกอล์ฟ ประเมินการใช้น้ำไม่เกินวันละ 5-7 ลูกบาศก์เมตรต่อ 1 ไร่ 16.ฟาร์ม เลี้ยงไก่ให้ใช้น้ำตัวละไม่เกิน 150-250 ซีซีต่อวัน เลี้ยงเป็ด ให้ใช้น้ำตัวละไม่เกิน 250-350 ซีซีต่อวัน เลี้ยงหมู ให้ใช้น้ำตัวละไม่เกิน 50-70 ลิตรต่อวัน และ 17.การใช้น้ำบาดาลนอกจาก 16 ข้อข้างต้น ให้พิจารณาจากข้อเท็จจริงตามความจำเป็นและเหมาะสม

 

ที่มา : มติชนออนไลน์