“คลัง-เกษตรฯ” แบะท่าคุม “สหกรณ์” ตั้งหน่วยงานอิสระกำกับ

ตามที่ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ยกร่างพระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. … ที่จะมีการตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมา ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้สินเชื่อรายย่อยที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้กำกับดูแลอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ลีสซิ่ง เช่าซื้อ (ไฮเปอร์เชส) พิโกไฟแนนซ์ แฟกตอริ่ง และจำนำทะเบียนรถ

โดย “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะรวมไปถึงการดึง “สหกรณ์ออมทรัพย์” เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอิสระนี้ด้วย

“ต้องรอตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน” ขุนคลังกล่าว พร้อมบอกว่าแนวคิดการตั้งหน่วยงานอิสระมากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยแยกออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กระทรวงการคลังได้มีข้อเสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังไม่เห็นด้วย

“เราเสนอแนวทางคุมสหกรณ์ออมทรัพย์แบบนี้ แต่ตอนแรกเขา (กระทรวงเกษตรฯ) ยังไม่เอา เราก็บอกว่า ไม่เป็นไร ก็ดูเองไป แต่เรากำหนดวิธีการดูแลให้เขาไปดำเนินการ ดังนั้นช่วงแรกสหกรณ์ออมทรัพย์จะยังไม่มา ต้องรอเขาตกลงกันได้ก่อน” รมว.คลังกล่าว

ทั้งนี้ ตามที่ขุนคลังระบุก็คือ หลังจากไม่ได้รับการตอบรับเรื่องการตั้งหน่วยงานอิสระมากำกับดูแลสหกรณ์ ทำให้ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยให้ออกหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุม “ความเสี่ยงที่เกิดจากการประกอบกิจการทางการเงิน” ของสหกรณ์เช่นเดียวกับแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงิน

ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ ดังนี้ 1) “เกณฑ์กำกับด้านธรรมาภิบาล” กำหนดให้สหกรณ์ต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทุกประเภท ต้องไม่เกิน 4.5% ต่อปี พร้อมจัดทำและเปิดเผยรายการย่อแสดงสินทรัพย์/หนี้สินทุกสิ้นเดือน (เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ ที่มีสินทรัพย์ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป)

2) “เกณฑ์กำกับความเสี่ยงด้านเครดิต” เพื่อกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ โดยสหกรณ์ขนาดใหญ่จะให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่นต่อแห่งได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ให้กู้ และสหกรณ์ทุกประเภทและทุกขนาดจะรับฝากเงินจากสหกรณ์ขนาดใหญ่ เมื่อรวมกับเงินกู้แล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ผู้ฝากเงิน

และ 3) “การพัฒนาระบบสารสนเทศสหกรณ์ให้ทันสมัย” โดยสหกรณ์ต้องรายงานข้อมูลทางการเงิน 5 แบบรายงาน (การลงทุน เจ้าหนี้รายใหญ่ ลูกหนี้รายใหญ่ สภาพคล่อง และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง) เพื่อติดตามคุณภาพและสถานะสินทรัพย์/หนี้สิน

โดยเกณฑ์เหล่านี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม “พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542” เพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใหม่ แต่ยังไม่ใช่การออกกฎหมายเพื่อจัดตั้ง “หน่วยงานอิสระ” ขึ้นมากำกับดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้งข้อเสนอจากกระทรวงการคลัง และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ได้เสนอให้ยกร่างกฎหมายกำกับดูแลสหกรณ์ขึ้นมาใหม่ คือ “ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. …” ถูกคัดค้านจากบรรดาสหกรณ์ที่สะท้อนผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคที่มี “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ” เป็น รมว.เกษตรฯ จนแนวคิดดังกล่าวมีอันต้องพับไปก่อน

อย่างไรก็ดี ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอแนะจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งต่อมา “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ได้ “สั่งการ” กระทรวงเกษตรฯ รับข้อเสนอของ ป.ป.ช.ไปพิจารณา

จากนั้นได้มีการพิจารณาร่วมกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธปท.กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ป.ป.ช.และทีมงาน “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจการเงิน และหน่วยงานในกรมส่งเสริมสหกรณ์ และได้ข้อสรุปออกมา มีใจความสำคัญที่เห็นควรให้มีหน่วยงานอิสระขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

ขณะที่ “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำข้อเสนอดังกล่าวที่เป็นการรับลูกตามข้อเสนอ ป.ป.ช. เสนอต่อที่ประชุม ครม.เมื่อเร็วๆ นี้แล้ว

โดยยืนยันว่า “กระทรวงเกษตรฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ป.ป.ช. ในการจัดตั้งหน่วยงานอิสระในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน”

แต่สุดท้ายหน่วยงานอิสระที่ว่านี้ จะอยู่ภายใต้ “ร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน” หรือ “ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” คงต้องติดตามกันต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 – วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2561