ขั้นตอนการผลิตเห็ดเป็นยา

ดร. อานนท์ เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (เห็ด) องค์การสหประชาชาติ ปี 2524-2548 บอกว่า หลายท่านคงรู้จักและเข้าใจกันดีว่าเห็ดกินแล้วมีประโยชน์ หรือส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันว่าเห็ดเป็นแค่ผักชนิดหนึ่ง ที่นำมาประกอบอาหารได้เพียงเท่านั้น แต่จะมีสักกี่ท่านที่รู้และเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเห็ดนั้นเป็นยา สามารถนำมาสร้างประโยชน์ รักษาโรคภัยได้มากมาย ครั้งนี้ ดร.อานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเห็ดมาให้ความรู้ แนะขั้นตอนการผลิตเห็ดเป็นยาที่ถูกต้อง

ขั้นตอนการผลิตเห็ดเป็นยา

การผลิตเห็ดเป็นยา จริงๆ แล้วเข้าใจไม่ยาก และเห็ดที่นำมาสกัดเป็นยาก็เพาะได้โดยวิธีทั่วไป เห็ดมีหลายชนิดบางชนิดเราสามารถเพาะในถุงพลาสติกได้ อย่างเช่น เห็ดนางรม นางฟ้า หูหนู มิลค์กี้ เป้าฮื้อ หลินจือ เป็นต้น แต่เห็ดบางชนิดอาจต้องเพาะเหมือนเห็ดฟาง คือเพาะบนดิน เช่น เห็ดเยื่อไผ่ สมัยนี้จะเพาะเห็ดทีนึงก็เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น สังเกตเมื่อเส้นใยเดินเต็มให้เปิดฝาถุงออก เมื่อเปิดฝาออกเห็ดก็จะออกมา กรณีอันนี้คือเราต้องการนำดอกเห็ดไปประกอบอาหารเพื่อกินแทนผัก แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเอาเห็ดไปทำยาแล้วมีอะไรมากกว่านั้น

คำว่า สกัด หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าต้องใช้สารเคมี แอลกอฮอล์เพื่อสกัด เพื่อให้ได้สารบริสุทธิ์ ยามเป็นโรคอะไรเราจะฉีดสารบริสุทธิ์นั้นเข้าไป นั้นก็เหมือนกับว่าเรากำลังรักษาโรคแบบเทคโนโลยีตะวันตก ถามว่าได้ผลไหม ได้ผล ได้ผลแบบทันทีด้วย แต่พอได้ผลทันที ก็มีปัญหาตามมาคือ ราคาที่สูง และปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่ตามมา…เรื่องเห็ดเราเคยหลงทางมานาน หลงอย่างไร เราเคยเอาเห็ดมาสกัดเป็นสารเดี่ยว จากเห็ด 1 ตัน อาจจะได้สารบริสุทธิ์แค่ 1 กิโลกรัม ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก และจริงๆ แล้วเห็ดสามารถเอามาทำเป็นยาได้โดยง่ายถ้าเรารู้วิธี

“เห็ด” ความเป็นยาอยู่ที่เบต้ากลูแคนหรือโมเลกุลที่มีขนาดใหญ่ แต่ร่างกายคนเราไม่สามารถเอาไปใช้ได้โดยตรง ที่นี่เราจึงมีกรรมวิธีง่ายๆ ถ้าต้องการทำเห็ดเป็นยาอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

  1. ควรจะเอาเห็ดมาหมักก่อน โดยนำดอกเห็ดชนิดต่างๆ มาหั่นหรือทุบ ตัวอย่าง เช่น เห็ดหลินจือ ถ้าจะใช้เห็ดหลินจือบางคนเข้าใจผิด จะใช้ตอนที่แก่ตอนที่สร้างสปอร์แล้วแบบนี้ไม่มีความหมาย ใช้อย่างถูกต้องคือ ใช้ตอนที่กำลังสร้างสปอร์ บางคนเข้าใจผิดไปเอาสปอร์มากิน อันนี้ยิ่งแย่ใหญ่เพราะร่างกายคนเราไม่สามารถย่อยสปอร์ได้
  2. หั่นเสร็จเอามาใส่ในน้ำ สมมุติ เห็ด 1 กิโลกรัม ใส่น้ำไป 20 ลิตร แล้วใส่น้ำตาล ถ้าเป็นน้ำตาลที่ไม่ฟอกสีได้ยิ่งดีคือน้ำตาลทรายแดง ใส่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น 20 เปอร์เซ็นต์ กับน้ำ 20 ลิตร เท่ากับ ใส่เห็ด 4 กิโลกรัม เท่านั้น
  3. ใส่ในขวด หรือภาชนะที่ปลอดสารพิษ ถ้าใส่ถังพลาสติกต้องเป็นแบบฟู้ดเกรด ใส่เกือบเต็มปล่อยให้เกิดการหมัก ใช้ผ้าคลุม แต่ถ้าใช้การหมักแบบนี้ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี เพราะจุลินทรีย์ธรรมชาติ มีทั้งเชื้อโรคและประโยชน์รวมกันอยู่ เราต้องหมักจนกระทั่งให้เป็นกรด กลายเป็นน้ำส้มสายชูจริงๆ ถึงจะมั่นใจได้ว่าไม่มีเชื้อโรค แต่ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วมาถึงสูตรของ ดร. อานนท์ บ้าง ของด็อกเตอร์เราจะรู้ว่าตัวที่ทำการหมักคือ จุลินทรีย์ที่อยู่ในกระเพาะหรือในลำไส้ที่เราเรียกว่าโปรไบโอติกส์ เราก็ไปเอาเชื้อโปรไบโอติกส์มา แล้วโปรไบโอติกส์เอามาจากไหน ไม่ใช่เอามาจากลำไส้นะ เราเอามาจากธรรมชาติ เช่น รากของต้นโกงกางที่มีเป็นหมื่นๆ ชนิด เราก็แยกเอาเชื้อที่ใช้ได้ ที่มีประโยชน์จริงๆ สัก 10 ชนิด แทนที่จะใช้เชื้อจากอากาศเราก็ใช้เชื้อบริสุทธิ์นี้ใส่เข้าไปในน้ำหมัก โดยมีการเพาะเชื้อจุลินทรีย์นี้มาก่อน หรือที่เรียกว่า เชื้อโปรไบโอติกส์ใส่เข้าไป สังเกตไหมถ้าเราหมักแบบวิธีธรรมชาติจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี แต่ถ้าใช้เชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์เราใช้เวลาแค่ 1-2 สัปดาห์ ก็เริ่มกินได้แล้ว