“ต่างด้าว” ลงทะเบียนออนไลน์ ขีดเส้นขออนุญาตใน 30 มิ.ย.

กรณีที่กระทรวงแรงงานเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า กัมพูชา และลาว ลงทะเบียนทำประวัติและขออนุญาตทำงานในราชอาณาจักรที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 แต่มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนที่ไม่สามารถลงทะเบียนดำเนินการที่ศูนย์โอเอสเอสได้ทันเวลานั้น

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีมาตรการเพื่อให้กระบวนการดำเนินการในศูนย์โอเอสเอสเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ทันเวลา โดยมีการวางแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้มีการปรับกระบวนการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 กำหนดให้แรงงานนำใบเสร็จรับเงินค่าตรวจสุขภาพและค่าประกันสุขภาพเป็นหลักฐานแทนใบรับรองแพทย์ เมื่อผลตรวจออกมาแล้วให้ใช้ใบรับรองแพทย์ ระยะที่ 2 ลดขั้นตอนโดยให้แรงงานตรวจลงตรา (วีซ่า) และขออนุญาตทำงานก่อน แล้วจึงนัดไปจัดทำใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) ในภายหลัง รวมทั้งเพิ่มเวลาการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ในจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ระยะที่ 3 เพิ่มช่องทางโดยรับลงทะเบียนกลุ่มที่ยังตกค้างไม่สามารถดำเนินการภายในศูนย์โอเอสเอสได้ทันเวลาที่กำหนดทางระบบออนไลน์ www.doe.go.th หรือทางเอกสารที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานในส่วนภูมิภาค ทั้งยังมีการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อรับลงทะเบียนออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 เวลา 24.00 น. แล้วจึงมาจัดทำทะเบียนภายหลัง โดยกระทรวงแรงงานจะส่งข้อความสั้น (SMS) กำหนดวัน เวลา นัดหมายไปให้นายจ้างเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561

“ผลการดำเนินงาน คือแรงงานต่างด้าวมาดำเนินการทั้งหมด จำนวน 1,320,035 คน คิดเป็น ร้อยละ 96 คงเหลือที่ไม่มาดำเนินการเพียง 59,217 คน คิดเป็น ร้อยละ 4 เท่านั้น และมีการลงทะเบียนทางออนไลน์ จำนวน 190,056 คน ทั้งนี้ ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนก็ไม่สามารถอยู่ต่อหรือทำงานต่อไปได้ แต่หากประสงค์จะทำงานต่อไปก็ต้องเดินทางกลับออกไปก่อนและกลับเข้ามาใหม่ตามระบบเอ็มโอยู (MOU)” นายอนุรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุรักษ์กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานได้มีการประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบเอ็มโอยู สามารถรองรับความต้องการแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการได้อย่างเพียงพอ โดยปรับลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายให้มีความเหมาะสม เพื่อความสะดวก  รวดเร็ว ประหยัด คุ้มค่า ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ 1. นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเอง 2.       นายจ้างมอบอำนาจให้ ผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศดำเนินการ โดย    นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานแต่ยังไม่มีแรงงานต่างด้าว สามารถดำเนินการได้โดยยื่น    คำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

การนำเข้าตามระบบเอ็มโอยู เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้แรงงานได้รับความ    คุ้มครองและดูแลเหมือนเช่นคนไทย และเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน