เตือนชาวนาหมั่นสำรวจแปลงนา…ระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลบุกทำลายผลผลิต

นางอ้อมทิพย์ สุทธิพงศ์เกียรติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงนี้ ส่งผลให้บางพื้นที่ฝนตก อากาศร้อนอบอ้าว บางพื้นที่มีแดดจัดในช่วงกลางวัน ทำให้สภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะต่อการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งขณะนี้นาข้าวของเกษตรกรบางพื้นที่อยู่ในระยะใกล้เก็บเกี่ยว บางแห่งอยู่ในระยะกำลังจะออกรวง จึงขอเตือนให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างใกล้ชิด หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้รีบดำเนินการป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

ด้านนายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ทำความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง 2-3 รอบการผลิตต่อปี ทำให้ไม่สามารถตัดวงจรการระบาดให้หมดไปได้ อีกทั้งยังมีการใช้สารเคมีที่ไม่ถูกต้องทำให้เกิดความดื้อยา

นอกจากนี้ สารเคมียังไปทำลายศัตรูธรรมชาติที่คอยกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยิ่งทำให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดทวีความรุนแรงมากขึ้น จนบางครั้งบางพื้นที่ไม่สามารถได้รับผลผลิตข้าวเลย แม้ว่าขณะนี้ยังไม่พบระบาดที่รุนแรง แต่เกษตรกรไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยเฉพาะแปลงนาที่ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และ กข 35 หากเกษตรกรสำรวจพบเพลี้ยกระโดด 2-3 ตัว/กอ/จุด และเป็นระยะตัวอ่อนที่ยังไม่มีปีก แนะนำให้ใช้สารสกัดสะเดาผสมสารจับใบฉีดพ่น ต่อเนื่อง 2- 3 ครั้ง ทุก 5 วัน ในช่วงเย็นหรือช่วงแสงแดดอ่อน แต่ถ้าพบส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยมีปีกแนะนำให้ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียฉีดพ่นในช่วงแสงแดดอ่อนหรือช่วงเย็น โดยใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย 1 กก./น้ำ 40 ลิตร/ผสมสารจับใบ ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ต่อเนื่องทุก 5 วัน หรือใช้กับดักแสงไฟจับตัวเต็มวัย มาทำลายควบคู่ไปด้วย

สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดมากจำเป็นต้องใช้สารเคมีจะต้องคำนึงถึงความถูกต้องและปลอดภัย เช่นในระยะแตกกอพบตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดมากกว่า 10 ตัว/กอ แนะนำให้ใช้สารฆ่าแมลงบูโพรเฟซิน หรือสารอิโทเฟนพรอกซ์  ส่วนในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวง  หากพบเพลี้ยกระโดดมากกว่า 10 ตัว/กอ และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบในปริมาณน้อย แนะนำให้ใช้สารไดโนทีฟูแรนหรือสารคาร์โบซัลเฟน แต่การใช้สารเคมีต้องใช้ตามคำแนะนำในฉลาก

อีกหนทางหนึ่งที่จะลดความเสียหายจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล คือ  การเลือกปลูกข้าวพันธุ์ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น พันธุ์พิษณุโลก 2  สุพรรณบุรี 2  สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 90  กข 31  กข 41  กข 47  และ กข 49 แต่ไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันไป ดังนั้นการควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ได้ผลดี ต้องใช้วิธีผสมผสานควบคู่กันไป

ที่มา : มติชนออนไลน์