3 นักปราชญ์ เดินช่วยเกาะสมุย หลังใกล้เสื่อม คนนอกแห่กอบโกยไม่คิดดูแล คนในไม่สนใจ ขายที่อย่างเดียว

เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ได้มีกิจกรรมเดินรอบเกาะ “เดินกินห่อ สาวย่าน ตำนานสมุย” ระหว่างวันที่ 8 เมษายน ถึง 2 พฤษภาคม นำโดยนักวิชาการ นักปรัชญาอาวุโส รวมทั้งพระสงฆ์ ที่เป็นชาวเกาะสมุยโดยกำเนิด เป็นแกนนำ ประกอบด้วย นายประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญา ศ.ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซี เจ้าของรางวัล แมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะปี 2552 และ พระภาวนาโพธิคุณ(โพธิ์ จันทสาโร) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม วันแรกมีชาวเกาะสมุยในพื้นที่ มาร่วมเดินประมาณ 40 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นเพราะ ชาวเกาะสมุยพื้นถิ่น ต้องการจะสื่อความหมายไปยังบุคคลภายนอกว่า เครือญาติของชาวเกาะสมุยที่อาศัยอยู่บนเกาะสมุย สามารถพลิกฟื้นในพื้นที่กลับมาเป็นพื้นที่ ที่มีความน่าอยู่เหมือนเดิม เพราะเวลานี้พื้นที่เกาะสมุยถูกบุคคลภายนอก และนายทุน เข้ามาครอบครองพื้นที่เกือบหมด แม้แต่โรงเรียนก็มีนักเรียน ที่เป็นลูกหลานของชาวเกาะสมุยแท้ๆไม่ถึง 20% ที่เหลือคือ ลูกหลานของคนภายนอกที่มาทำมาหากินบนเกาะเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความรู้สึกอนุรักษ์ หวงแหนพื้นที่มีน้อย ระยะเวลา ไม่ถึง 20 ปี ที่ผ่านมาพื้นที่เกาะสมุย มีความเสื่อมถอยทางด้านสิ่งแวดล้อมลงอย่างมาก ซึ่งกิจกรรมระหว่างการเดินนั้น จะมีการพูดคุยกับชาวบ้านพื้นเมืองเกาะสมุยให้มีความเชื่อมันในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ในพื้นที่เกาะ เพื่อทำให้เกาะสมุยกลับไปน่าอยู่เหมือนในอดีต

นายประมวล กล่าวว่า ตั้งใจว่า การเดินครั้งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง แม้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงในชั่วพริบตา แต่อยากให้คนเกาะสมุยคิดหวงแหนพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น ซึ่งในอดีตพื้นที่เกาะสมุยมีป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในภาคใต้ และเกาะสมุยมีปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยมีป่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเหมือนกับพระแม่ธรณีบีบมวยผม ต้นไม้ทุกต้นเหมือนกับเส้นผมที่ค่อยๆปล่อยน้ำออกมากลายเป็นลำน้ำไหลลงโดยรอบเกาะสมุย แต่เมื่อป่าไม้ลดหายไปมากก็เกรงว่าจะทำให้เกิดพิบัติภัยในอนาคต ดังนั้นหากทุกคนกลับมาช่วยกันรักษาธรรมชาติให้กลับคืนมาก็จะช่วยให้ไม่ขาดแคลนน้ำและไม่เกิดพิบัติภัย

“วันแรก ที่เราเดิน ได้แวะชุมชนและคารวะคนเฒ่าคนแก่และแหล่งธรรมชาติ ได้เจอกับแม่เฒ่าอายุย่าง 102 ปีซึ่งรุ่นเดียวกับแม่ของผม โดยแม่เฒ่ายังมีสุขภาพและความจำดีทำให้สาวย่านโยตจนรู้ว่าเป็นเครือญาติกันอย่างไร นอกจากนี้ยังได้พบกับคนตาบอดซึ่งแม้มองไม่เห็นแต่รับรู้ได้ด้วยใจว่าตนกำลังทำอะไรและได้อวยพรให้กิจกรรมการเดินครั้งนี้ประสบความสำเร็จ”นายประมวล กล่าว

นายสถิตพงศ์ สุรินทร์วรางกูร เครือข่ายพลเมืองสมุยกล่าวว่า เกาะสมุยมีสภาพเหมือนกะลาคว่ำ ด้านบนเป็นป่าและรอบๆมีลำน้ำ 14 สายไหลลงพรุ ซึ่งมีฝนคอยเติมน้ำให้ป่าอยู่ตลอด โดยมีปริมาณน้ำราว 500 คิวต่อปี ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยแค่ปีละ 10 ล้านคิว หากร่วมกันดูแลป่าและบริหารจัดการที่ดีเชื่อว่าบนเกาะสมุยมีน้ำเหลือใช้เพราะต้นไม้เหมือนกับฟองน้ำสามารถดูดน้ำในอากาศที่มีปริมาณมากมาใช้ได้ตลอด

ด้านนายไพชนม์ แย้มบาน อดีตเกษตรอำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นคนเกาะสมุยโดยกำเนิด กล่าวถึงสถานการณ์ต้นมะพร้าวซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของเกาะสมุยว่า มีความน่าเป็นห่วงมากในอนาคตมะพร้าวอาจจะสูญพันธุ์ไปจากเกาะสมุย เนื่องจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวมีปริมาณลดลงทุกปี โดยข้อมูลเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในปี 2548 มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวจำนวน 9.8 หมื่นไร่ และในปี 2556 เหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 6 หมื่นไร่ ลดลงถึง 1 ใน 3

“ในอนาคตหากไม่มีการแก้ปัญหาเชื่อว่าต้นมะพร้าวบนเกาะสมุยจะหายไปภายใน 60 ปี ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรเลิกทำสวนมะพร้าวมีปัจจัยหลัก คือ การเปลี่ยนการถือครองที่ดินคืนมีนายทุนจากข้างนอกมาซื้อ และการนำที่ดินไปใช้สร้างบ้านอยู่อาศัยและการสร้างโรงแรม รวมถึงสภาพสังคมที่คนรุ่นใหม่หันไปทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแทนการทำสวน”นายไพชนม์ กล่าว

นายไพชนม์ กล่าวต่อว่า ชาวสวนบนเกาะสมุยเคยพยายามร่วมกันแก้ปัญหา โดยส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวแถวแรกเสริมในพื้นที่ชายหาดและพื้นที่สาธารณะ และปลูกเสริมในสวนเพื่อทดแทนต้นเก่า แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่เพราะอาชีพทำสวนในปัจจุบันไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่เลือกไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวแทน หรือขายสวนทิ้ง แต่ตนเองอยากบอกว่าต้นมะพร้าวมีคุณค่าต่อการท่องเที่ยวของเกาะสมุย เพราะถือเป็นจุดกำเนิดของการท่องเที่ยวทั้งหมด ดังนั้นจึงอยากเห็นทุกคนช่วยกันเพิ่มปริมาณต้นมะพร้าว โดยการเริ่มปลูกมะพร้าวในที่สาธารณะและในสวนที่เหลืออยู่

“ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้ประโยชน์จากมะพร้าวไปเต็มๆ เพราะมะพร้าวคือจุดขายเห็นได้จากการประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวเกาะสมุยก็มักมีต้นมะพร้าวเป็นโลโก้ ก็ควรออกมาสนับสนุนการปลูกและร่วมดูแลต้นมะพร้าว นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาที่เกาะสมุย เพื่อมาสัมผัสเกาะแห่งมะพร้าวหรือโคโคนัทไอซแลนด์”นายไพชนม์ กล่าว

นายธนิต พงเพชร เจ้าของสวนมะพร้าว กล่าวว่า ตนเองมีสวนมะพร้าวประมาณ 100 ไร่ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เข้าไปดูแลสวนแล้ว เพราะการทำสวนมะพร้าวไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และยังมีปัญหาราคาตกต่ำ สวนมะพร้าวที่เหลือส่วนใหญ่เป็นต้นแก่ ขาดการบำรุงรักษา จึงถูกโค่นเพื่อขายเป็นไม้ ทำให้จำนวนต้นมะพร้าวลดลงทุกปีโดยไม่มีการปลูกทดแทน ทุกวันนี้อาชีพทำสวนมะพร้าวจึงเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์