เบรกทล.เรียกค่าเสียหายกทพ. ข้อพิพาทค่าผ่านทาง “ด่วนด้านใต้” ให้ 1 วีค 2 ฝ่าย เคลียร์ส่วนแบ่งรายได้

ทางหลวงยกทางด่วนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ให้ กทพ.เก็บค่าผ่านทางตั้งแต่กรกฎาคมนี้ แต่ยังไม่เคาะส่วนแบ่งรายได้ คค.ให้ 2 ฝ่ายตกลงกันแล้วนัดเคลียร์อีกทีสัปดาห์หน้า พร้อมเบรก ทล.เรียก   ค่าเสียหาย 5.4 พันล้าน ข้อพิพาทเก็บค่าผ่านทางเส้นดังกล่าว เหตุยังไม่เคยเปิดเก็บค่าผ่านทาง

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงผลการประชุมหาข้อสรุปเรื่องการบริหารจัดการจัดเก็บค่าผ่านช่วงทางหลวงพิเศษถนนกาญจนาภิเษก (ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้) ช่วง       พระราม 2-สุขสวัสดิ์-บางขุนเทียน ระหว่าง ทล.กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยมี นาย   พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (คค.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 เมษายน ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ กทพ.เป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทางตามเดิม โดยขอให้ ทล. และ กทพ.ไปหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางว่าจะคิดในอัตราเท่าใด เพราะ ทล.จะต้องจ้าง  กทพ.จัดเก็บค่าผ่านทาง  รวมทั้งให้ไปเร่งหาข้อสรุปเรื่องการจัดแบ่งรายได้ว่าจะแบ่งกันอย่างไร เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทางปีละ 50 ล้านบาท โดยสัปดาห์หน้าทั้ง       2 หน่วยงานจะเร่งประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหาข้อสรุปทั้งหมดก่อนที่ กทพ.จะเริ่มดำเนินการจัดเก็บค่าผ่าน ทางเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561

“ขณะนี้ตัวเลขต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการจัดเก็บค่าผ่านทางที่คำนวณ กทพ. และ ทล.ยังต่างกันมาก กทพ.คิดค่าใช้จ่ายเดือนละ 9.6 ล้านบาท แต่ ทล.คิดแค่เดือนละ 6.8 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินเดือนของ กทพ. เป็นอัตราของรัฐวิสาหกิจ แต่ ทล.เป็นอัตราของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็ต้องเร่งหาข้อสรุปทั้ง 2 เรื่อง ส่วนในวันที่ 1 กรกฎาคม ทล.จะฟ้องศาลปกครองเพื่อคุ้มครองสิทธิ เพราะพื้นที่จัดเก็บเป็นพื้นที่ของ ทล.หรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ ต้องรอผลการประชุมก่อน” นายธานินทร์ กล่าวและว่า สัดส่วน รายได้ที่จะแบ่งกันนั้นจะต้องดูปริมาณการจราจรที่จะเกิดขึ้นจริงก่อนหลังจากมีการเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งที่ประชุมได้ให้เก็บข้อมูลปริมาณการจราจรตั้งแต่วันที่ 1-31 กรกฎาคม 2561 เพื่อนำมาวิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณการจราจรในช่วงระหว่างบางนา-บางขุนเทียน จะมีปริมาณการจราจรอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านคัน ต่อเดือน

นายธานินทร์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ ทล.จะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการจัดเก็บค่าผ่านทางกับ กทพ. ซึ่งทำให้ ทล. ไม่สามารถเริ่มจัดเก็บรายได้ตั้งแต่ปี 2552 รวมเป็นเงินรายได้ที่ ทล.สูญเสียไปทั้งสิ้น 5,400 ล้านบาท ประมาณปีละ 600 ล้านบาท นั้น ที่ประชุมมองว่าเส้นทางดังกล่าวยังไม่มีการเปิดจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นทางการ

ดังนั้นถือว่า ทล.ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น จึงไม่สามารถเรียกร้องขอชดเชยรายได้

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน