ภัยแฝงของโรคปริทันต์

คนไทยกว่า ร้อยละ 80 มีอาการของโรคเหงือกและโรคปริทันต์ สาเหตุเริ่มจากการที่มีเชื้อก่อโรคมาอาศัยบนผิวฟัน และกระตุ้นให้เกิดภาวะอักเสบของเหงือก เกิดเป็นโรคเหงือก ซึ่งจะพบลักษณะของเหงือกที่มีสีแดงช้ำ และมีเลือดออกได้ง่าย และหากการอักเสบลุกลามไปถึงอวัยวะรอบรากฟัน เช่น เนื้อเยื่อเอ็นยึด ปริทันต์ และกระดูกเบ้าฟัน รอยโรคก็จะพัฒนาไปเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งจะพบการทำลายของเนื้อเยื่อ     ปริทันต์ ทำให้ฟันโยก เป็นหนอง และเกิดการสูญเสียฟันในที่สุด

ในช่องปากของเรามีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่หลากหลายชนิด ทั้งเชื้อที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค เชื้อเหล่านี้จะเกาะและเจริญเติบโตอยู่บนผิวฟันเกิดเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งหากไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้อง แผ่นคราบนี้ก็จะหนาตัวขึ้น และจะเริ่มมีการสะสมของแคลเซียมอิออน เกิดเป็นหินน้ำลาย ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของเชื้อที่ก่อโรคที่มารวมตัวกันอยู่เป็นจำนวนมาก

การรวมตัวกันของเชื้อก่อโรคเหล่านี้ในช่องปาก ไม่ได้ทำให้เกิดโรคขึ้นในทันที แต่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่ออย่างเรื้อรัง และเกิดการทำลายช้าๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกว่าที่เราจะเห็นผลของการทำลายของเนื้อเยื่อก็อาจใช้เวลานานหลายเดือน ดังนั้น วิธีการดีที่สุดในการรักษาสุขภาพของช่องปาก คือ การป้องกันการรวมตัวของเชื้อเหล่านี้ โดยการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอทุกวัน รวมทั้งไปพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะหากพบทันตแพทย์เมื่อเกิดอาการของโรคแล้ว หมายความว่า เนื้อเยื่อในช่องปากของเราถูกทำลายและมีการลุกลามของโรคไปมากแล้ว

ผลเสียของโรคเหงือกและโรคปริทันต์ในปากคือ การปวด มีเลือดออก ฟันโยก และมีกลิ่นปาก แต่สิ่งที่เราควรจะทราบคือ โรคปริทันต์นั้นมีผลเสียกับสุขภาพของร่างกายด้วย โดยมีหลักฐานแสดงอย่างชัดเจนว่าการเกิดโรคปริทันต์เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคของหลอดเลือดและหัวใจ (cardiovascular disease) รวมทั้งเกี่ยวพันกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งในช่องปาก นอกจากนี้ ยังพบว่าหญิงมีครรภ์ที่เป็นโรค    ปริทันต์ มีอุบัติการณ์การคลอดก่อนกำหนดของทารกในครรภ์มากขึ้น สนับสนุนคำกล่าวที่ว่า สุขภาพ ช่องปากนั้นสัมพันธ์กับระบบต่างๆ ในร่างกาย

การละเลยไม่ดูแลสุขภาพของช่องปากนั้น สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายโดยรวมได้

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก ศ.ทพ.ประสิทธิ์ ภวสันต์