ทส.แฉ “ขยะพลาสติกไทย” ล้น 3.2 ล้านตัน/ปี – ทั่วโลก 13 ล.ตัน

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มลพิษขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม 10 ปี ที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนประมาณ 80% หรือประมาณ 1.2 ล้านตัน โดยเฉพาะปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ปี 2559 จำนวน 27 ล้านตัน ทำให้มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 3.2 ล้านตัน

อธิบดี สส.กล่าวต่อว่า ข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง แต่ละปีมีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตัน ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเล จากหลักฐานที่ปรากฏชัด แสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติก ซึ่งไม่ว่าในเมืองใหญ่หรือชุมชนในชนบท ถุงพลาสติกก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย เพราะอำนวยความสะดวกสบายให้ทุกคน เมื่อต้องไปจับจ่ายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าชุมชน รวมทั้งใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ประเทศไทยมีขยะถุงพลาสติกเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

นายรัชฎา กล่าวอีกว่า ดังนั้นในการจัดงานวันคุ้มครองโลก 2561 (Earth Day 2018 THAILAND) ของ ทส.ภายใต้แนวคิด “คนรุ่นใหม่ ลดขยะพลาสติก กู้วิกฤตโลกร้อน” ในวันที่ 22 เมษายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะมีการจัดแสดงนิทรรศการ “วิกฤตขยะพลาสติก วิกฤตโลกร้อน” การแสดง มุมมองของเยาวชนต่อการคุ้มครองโลก และการเดินขบวนรณรงค์ลดขยะพลาสติก กู้วิกฤตโลกร้อน และจะมีการรณรงค์ลดพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก ที่เกินจำเป็นและการทิ้งขยะถุงพลาสติกไม่ถูกที่ เพียงแค่ปฏิเสธการรับถุงพลาสติกจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อเพียงคนละ 1 ใบ ต่อวัน ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะถุงพลาสติกได้เป็นจำนวนหลายล้านใบต่อวัน

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน