ต้องเปลี่ยน ผู้ว่า กยท.กี่คน เซ่นสังเวยราคายางตกต่ำ

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดูจะกลายเป็น “แดนสนธยา” อย่างแท้จริง หลังจากแค่ไม่ถึงเดือนมีการเปลี่ยนตัว “ผู้ว่าการ” ปาเข้าไปถึง 3 คน ตั้งแต่ นายธีธัช สุขสะอาด ถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจคำสั่ง คสช.ที่ 68/2559 สั่งย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการยื่น “ใบลาออก” ของ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามารักษาการผู้ว่าการ กยท.เพียง 14 วัน

ล่าสุด คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้มีมติให้ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ อดีตประธานผู้บริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber ConsortiumLimited หรือ IRCo) เข้ามารับตำแหน่งแทน ดร.ธนวรรธน์ จนกลายเป็นคำถามของผู้เกี่ยวข้องในวงการยางที่ว่า ทำไม ดร.ธนวรรธน์ จึงอยู่ กยท.ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ 14 วันของ ดร.ท่านนี้ก็ได้เริ่มวางนโยบายเร่งด่วน 3 แนวทางเพื่อผลักดันราคายางพาราให้แตะ 50 บาท/กก.ภายใน 3 เดือนไว้แล้ว

แน่นอนว่า การลาออกของ ดร.ธนวรรธน์ ย่อมต้องเกี่ยวพันกับการนำนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไอเดีย” ในการลดกรีดยาง 3 เดือน การเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยาง การปลดล็อก พ.ร.บ.การยาง มาตรา 49 (3) การเข้าถึง แหล่งเงินทุน จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาว่า “ใคร” จะเป็นผู้เหมาะสมในการนำไอเดียเหล่านี้ให้มีผลในทางปฏิบัติ

ในประเด็นเหล่านี้ นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า แม้ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย จะเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้ความเชื่อที่ว่า ดร.ธนวรรธน์ จะสามารถแก้ปัญหาได้ แต่สภาพภายในของ กยท.กลับมีปัญหาด้านเอกภาพในการทำงาน เนื่องจาก กยท.เกิดมาจาก 3 องค์กร (องค์การสวนยาง-สถาบันวิจัยยาง-กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง) ตำแหน่งผู้บริหารจึงไม่ค่อยลงตัว ประกอบกับมีการเปลี่ยนกรรมการ กยท.ที่มาจากภาคราชการที่ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงเกษตรฯ โดยนายกฤษฎาต้องการจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการใน กยท.เพื่อแก้ต้นตอปัญหาราคายางที่ไม่คืบหน้าอีก 5 ท่าน “ดร.ธนวรรธน์ จึงรู้สึกโดดเดี่ยวและจะแก้ปัญหาลำบากจึงต้องถอนตัวไป” นายเพิกกล่าว

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของนายเยี่ยม รักษาการผู้ว่าการ กยท.คนล่าสุดนั้น นายเพิกเชื่อว่า “จะทำงานได้ลื่นขึ้น” เพราะมาจากสถาบันวิจัยยางและบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRCO) ที่สำคัญก็คือ นายเยี่ยมมีความสนิทสนมกับทีมงานกรมวิชาการเกษตรที่นายกฤษฎาส่งมาแก้ปัญหายาง

ทว่าแตกต่างจากความเห็นของ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) ที่ค่อนข้าง “ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก” ที่บอร์ด กยท.ได้มีการแต่งตั้งคนใหม่ ทั้งๆ ที่คนเก่ายังไม่ได้ทำงาน มีเพียงแต่ออกมาให้ข่าวกับสื่อว่าจะปฏิรูปยางอย่างไรให้ราคายางดีขึ้นเท่านั้น การเปลี่ยนรักษาการผู้ว่าการในครั้งนี้ กยท.ควรแถลงให้ทุกคนสบายใจ ไม่ควรเป็นความลับ เพราะจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นใน กยท. ที่มีหลายคนวิจารณ์ว่า เหมือนผู้บริหารซ้ำเติมราคายางที่ขายอยู่ในตลาดล่วงหน้า เพราะ “ขาดความน่าเชื่อถือ” ในการบริหารงานของบอร์ด กยท. ถ้าภาวะขาดความเชื่อมั่นราคายางก็จะตกลงมาอีก “ผมจึงข้องใจว่า สาเหตุมาจากอะไรกันแน่ เนื่องจากเพิ่งแต่งตั้ง ดร.ธนวรรธน์เข้ามา มายังไม่ถึงเดือน”

ขณะที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงยืนยันที่จะดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางต่อไปแม้จะได้รับเสียงคัดค้าน โดยมีมาตรการหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ช่วง 3 เดือน ชดเชยให้ 1,000/1,500 บาทต่อไร่ การได้ตัว นายเยี่ยม รักษาการผู้ว่าการ กยท.คนใหม่จะเข้ามาช่วยผลักดันโครงการต่างๆ วิธีการนำเงินมาชดเชยเกษตรกรที่หยุดกรีดยาง การพิจารณาว่าจะหยุดวันเว้นวันหรือต่อเนื่องดี ซึ่ง กยท.มีระเบียบให้สามารถดำเนินธุรกิจได้เอง จัดตั้งหน่วยธุรกิจการยาง และเปิดให้เกษตรกรมาสมัคร มาเข้าร่วมหุ้นหยุดกรีดยาง โดย กยท.เป็นผู้รับซื้อยาง เมื่อดันยางราคาขึ้นได้ เกษตรกรจะได้ส่วนต่างเป็นค่าชดเชย ซึ่งไม่จำเป็นต้องของบฯ จากรัฐบาล รวมถึงแนวทางออกพันธบัตรให้เกษตรกรถือหุ้นผ่านสหกรณ์ด้วย

“ผมมั่นใจว่า นายเยี่ยมจะมาบริหาร กยท.ได้เป็นอย่างดี เพราะเคยบริหารบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ แน่นอนว่า เราจะร่วมกันหารือผลักดันให้ราคายางขึ้นไปถึง 60 บาทให้ได้” นายกฤษฎากล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 23 – วันพุธที่ 25 เมษายน 2561