บสย.ชงคลังค้ำสินเชื่อ 1.65 แสนล. ช่วยเอสเอ็มอีต่อเนื่อง/ถกแบงก์ลดดอก

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.เสนอกระทรวงการคลัง เพื่อนำเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ บสย.ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ 2 โครงการ วงเงินรวม 165,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย (Micro Entrepreneur) ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท กำหนดวงเงิน   ค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท ต่อราย ระยะเวลาดำเนินการ 1.5 ปี ต่อยอดจากโครงการระยะ 2 ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. 13,500 ล้านบาท ช่วยค้ำประกันเอสเอ็มอีไปแล้ว 1.6 แสนราย ล่าสุดมีวงเงิน  ค้ำประกันเหลือ 600 ล้านบาท คาดว่าจะหมดในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งโครงการใหม่นี้จะมีการเจรจากับธนาคารให้คิดดอกเบี้ยเอสเอ็มอีถูกลง เพื่อให้เอสเอ็มอีจ่ายเงินงวดน้อยลง จากขณะนี้ธนาคารคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ เช่น 1.5% ต่อเดือน

นายวิเชษฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 7 (PGS7) วงเงิน 150,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1.5 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ บสย.เรียบร้อยแล้ว เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะที่ 6 ได้รับอนุมัติมา 1 แสนล้านบาท ล่าสุด เหลือวงเงินค้ำประกัน 26,000 ล้านบาท จะหมดอายุโครงการในเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับโครงการในระยะที่ 7 มุ่งเน้นการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 3 กลุ่มคือ กลุ่มเอสเอ็มอีใช้บัญชีเดียว กลุ่มเอสเอ็มอีแบงก์รัฐ และกลุ่มเอสเอ็มอีแบงก์เอกชน

“ทั้ง 2 โครงการเป็นแผนงานในไตรมาส 2 ที่ บสย.เตรียมไว้ และเตรียมเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อนอนแบงก์ ล่าสุดมี 2 ธนาคารให้ความสนใจแล้ว คาดว่า 3 โครงการใหม่นี้จะพร้อมดำเนินการได้ใน    ไตรมาสที่ 3” นายวิเชษฐ กล่าว

นางนิภารัตน์ พิสิฐพิทยเสรี รักษาการแทนผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวถึงผลการดำเนินงานค้ำประกัน  สินเชื่อ บสย. ไตรมาส 1 ปี 2561 (1 มกราคม-31 มีนาคม) ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มียอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับ 17 ธนาคารพันธมิตรวงเงิน 23,313 ล้านบาท จำนวนหนังสือค้ำประกัน 31,733 ฉบับ (LG) เป็นไปตามเป้าหมายและแผนวิสาหกิจ ปีนี้ตั้งเป้าหมายค้ำประกัน 1.1 แสนล้านบาท คาดว่าจะช่วยค้ำประกันเอสเอ็มอีได้ประมาณ 1 แสนราย

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานสนับสนุน บสย. กล่าวว่า บสย.ปรับปรุงประสิทธิภาพ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รองรับแผนงานการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อให้เร็วขึ้นจาก        3 วัน เป็น 1 วันทำการ เบื้องต้นเริ่มดำเนินการกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม  แห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารกรุงไทยในเดือนพฤษภาคมนี้

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน