จี้พาณิชย์ฟ้องเวียดนามกีดกันค้า “สศอ.” หนุนชงดับเบิลยูทีโอชี้ขาด โอดยอดส่งออกรถยนต์ฮวบ 80%

สศอ.จี้พาณิชย์ฟ้องดับเบิลยูทีโอ เหตุเวียดนามไม่แฟร์กีดกันการค้ารถยนต์ โอดกระทบหนักทำยอด ส่งออก 4 เดือนหายไปกว่า 80% หวั่นระยะยาวผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตหนีเหมือนสิ่งทอ ชี้หากปล่อยบานปลาย เวียดนามอาจทำกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และรักษาการ       ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) ของประเทศเวียดนาม ที่ออกมาควบคุมการนำเข้า รถยนต์ ต้องออกเอกสารรับรองรถยนต์นำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกและการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ใหม่ที่นำเข้ามาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่งผลกระทบต่ออุตฯยานยนต์ในประเทศ หากไม่เร่งแก้ปัญหาระยะยาวอาจส่งผลกระทบต่อการย้ายฐานการผลิตอุตฯ รถยนต์ของไทย และอาจส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนดำเนินมาตรการดังกล่าวตามได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

“มาตรการใหม่รถยนต์ที่ส่งออกไปเวียดนามทุกล็อตจะต้องถูกตรวจสอบจากปกติเป็นการสุ่มตรวจทุกล็อต โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้แจ้งในที่ประชุมองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ว่า ไม่ถูกต้องเพราะต้องแจ้งไทยก่อนล่วงหน้า 60 วัน กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ของไทยก็เจรจามาต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเวียดนามมากนัก หากถามว่าจะหารือกับชาติอาเซียนอื่นๆ เพื่อฟ้องร้องเวียดนามกับดับเบิลยูทีโอเหมือนกรณีที่ไทยโดนเรื่องอ้อยหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการตัดสินใจต่อไป” นายณัฐพล กล่าว

นายณัฐพล กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการลักษณะดังกล่าวเวียดนามเคยดำเนินการกับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในอดีตที่ผ่านมา และส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามค่อนข้างมาก หากปัญหานี้ปล่อยไว้ อาจกระทบต่อฐานการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เช่นกันในระยะยาว เนื่องจากเห็นว่าการกีดกันเรื่องการตรวจสอบ จะไม่เน้นไปที่ชิ้นส่วนแต่อย่างใดเพราะเวียดนามยังจำเป็นต้องนำเข้าไปประกอบในประเทศ ซึ่งเกรงว่า เวียดนามอาจทำลักษณะนี้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามมาตรการเอ็นทีบี ในการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศเวียดนาม เนื่องจากมาตรการใหม่ของเวียดนามได้ส่งผลกระทบทำให้การส่งออกรถยนต์ล่าช้ากว่าเดิมมาก เช่น จากเดิมหากเอกสารครบรถยนต์จะถูกปล่อยจากท่าเรือได้ทันที แต่ล่าสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รถยนต์ต้องถูกกักบริเวณท่าเรือถึง 1 เดือน ส่งผลให้ยอดการส่งออกไปยังเวียดนามในช่วง 4 เดือน (มกราคม-เมษายน) มีปริมาณเพียง 4,000 คัน จากปกติต้องส่งออกไปแล้ว 20,000 คัน หรือลดลงกว่า 80% ขณะที่ทั้งปีตั้งเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามที่ 65,000 คัน

“ตอนนี้อยากให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ มีความเข้มแข็งในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้มากขึ้น อาทิ การฟ้องร้องกับดับเบิลยูทีโอ เพราะเรื่องนี้เวียดนามทำผิดค่อนข้างชัดเจน” นายณัฐพล กล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน