กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมมือ FAO ส่งวิทยากรไปถ่ายทอดเรื่องการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีให้เจ้าหน้าที่เกษตรเวียดนามและพม่า

นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดส่งนักวิชาการเกษตรชำนาญการด้านอารักขาพืช ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Training on Biological Control หรือการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี ให้กับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและเกษตรกรของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้สารชีวภัณฑ์ที่สำคัญคือการใช้ศัตรูธรรมชาติในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จำเป็นที่ต้องใช้สารชีวภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานที่หรือหน่วยงานที่มีเทคนิคการศึกษาทดสอบและการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานยังไม่เพียงพอในการถ่ายทอดความรู้ ดังนั้น ความร่วมมือกันในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จึงเป็นการช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ให้สามารถควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในภูมิภาคเอเชียได้ด้วย

ด้านนางสาวอารีวรรณ ใจเพ็ชร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี กล่าวเสริมว่า สำหรับประเทศเวียดนามนั้นทางกรมวิชาการเกษตรเวียดนาม ได้สนับสนุนให้เกษตรกรในประเทศใช้เชื้อราเมตาไรเซียมเข้าควบคุมแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในหลายพืช เช่น ผัก ข้าว แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตหัวเชื้อราเมตาไรเซียมบริสุทธิ์ (Metarhizium anisopliae) และการผลิตขยายเชื้อราให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน

วิทยากรที่กรมส่งเสริมการเกษตรส่งไปได้แก่ นางสาวสุณิสา ผิวรำไพ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ในการควบคุมศัตรูพืช เน้นการใช้เชื้อราทำลายแมลงควบคุมศัตรูพืช พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานของตนเองและพัฒนาการผลิตขยายหัวเชื้อราได้ด้วยตนเอง

ส่วนที่ประเทศพม่านั้น มีนางสาววรนาฏ  โคกเย็น นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ไปเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยเฉพาะหนอนใยผักของพืชตระกูลกะหล่ำและพืชผักชนิดต่างๆ เนื่องจากเกษตรกรในเขต Pindaya มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชจำนวนมากในกะหล่ำปลี กวางตุ้ง มะเขือเทศ หอมแดง กระเทียม จึงต้องมุ่งเน้นถ่ายทอดความรู้การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เพื่อให้เกษตรกรตระหนักถึงการลดการใช้สารเคมีและรักษาสมดุลทางระบบนิเวศน์ให้เกิดความยั่งยืน