สสก. 5 สงขลา รณรงค์ป้องกันและแก้ไข ปัญหาทุเรียนอ่อน

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไม้ผลเขตร้อนที่สำคัญของโลก ซึ่งไม้ผลเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ ได้แก่ ทุเรียน สามารถปลูกและให้ผลผลิตได้ทุกภูมิภาค โดยใน ปี 2561 มีพื้นที่ให้ผลผลิต 609,951 ไร่ และคาดว่าจะมีผลผลิตรวม 734,284 ตัน ในขณะที่ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตใหญ่รองลงมาจากภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่มีพื้นที่ให้ผลผลิตสูงเป็น อันดับที่ 2 รองจากจังหวัดจันทบุรี มีกลุ่มล้งผลไม้หรือผู้รวบรวมสินค้าเกษตรสำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่างประเทศเปิดจุดรับซื้อจำนวนมาก ซึ่งจะรับซื้อทั้งผลผลิตของจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง

อีกทั้งราคาจำหน่ายทุเรียน ใน ปี 2561 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีก่อนๆ โดยเฉพาะผลผลิตที่ออกมาก่อนฤดูกาลมักจะได้ราคาสูงและอาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ยังไม่สุกแก่ หรือที่เรียกว่าทุเรียนอ่อนส่งมาจำหน่ายในตลาดได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเข้าสู่ตลาด ทำให้กระทบต่อชื่อเสียงประเทศไทย ผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศขาดความเชื่อถือในสินค้าจากแหล่งผลิตภาคใต้จนอาจทำให้ราคาของทุเรียนตกต่ำจากการที่มีสินค้าด้อยคุณภาพปะปนกับสินค้าคุณภาพดี มีการระบายสินค้าออก ได้ช้าซึ่งจะทำให้มีผลผลิตตกค้าง เน่าเสียหาย และเป็นการทำลายรายได้และเศรษฐกิจของเกษตรกรที่มีผลผลิตออกในช่วงฤดูกาลปกติ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช้ากว่าผลผลิตกลุ่มนี้ อีกทั้งปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ และให้นำมาตรการทางกฎหมายเข้ามาใช้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเป็นการป้องกันได้อีกทางหนึ่งด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน หากมีการนำทุเรียนด้อยคุณภาพเข้าสู่ตลาด จึงได้ดำเนินการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน อันจะเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยป้องกันแก้ไขการเกิดปัญหาดังกล่าวต่อไปได้ในอนาคต

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมการเกษตร จึงจะจัดงานรณรงค์และประชาสัมพันธ์ป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้ด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรภาคใต้ เพื่อรณรงค์และประชาสัมพันธ์ป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนของ 14 จังหวัดภาคใต้ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้คุณภาพแก่แปลงใหญ่ทุเรียนในเขตภาคใต้ ขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมมรกต อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

โดยจะมีบุคคลผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้แทนเกษตรกรในแปลงใหญ่ทุเรียน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผลจาก 14 จังหวัดภาคใต้ ผู้รวบรวมผลไม้เพื่อส่งออก (ล้ง) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อัยการ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา รวมจำนวน 65 คน

นายสุพิท กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ดังกล่าว คือ สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพของ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่อาจปะปนเข้ามาในตลาดทุเรียนภาคใต้ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นหากมีการนำทุเรียนด้อยคุณภาพเข้าสู่ตลาดให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้