‘กฤษฎา’ ฮึ่ม! จี้ปลัดเกษตร แก้ผลผลิตราคาตกต่ำ ล้นตลาด ผุดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ใครเมินรัฐไม่ช่วย

“กฤษฎา” ฮึ่ม! จี้ปลัดเกษตร แก้ผลผลิตราคาตกต่ำ ล้นตลาด ผุดเขตเกษตรเศรษฐกิจ ลั่นเกษตรกรทำตามแผนได้รับความคุ้มครองจากรัฐ

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ด้วยแผนการผลิตทางการเกษตร ว่า ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการบริหารจัดการเกษตรกรรมแผนใหม่ โดยให้มีการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาตกต่ำ ในขณะเดียวกันยังช่วยคาดการณ์ผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลนได้ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งข้าราชการ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้มีผู้รับผิดชอบผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเป็นรายสินค้า โดยเรียกว่า Mr. (มิสเตอร์) เช่น Mr.ข้าว Mr. มันสำปะหลัง Mr.สับปะรด Mr.ยางพารา ฯลฯ นั้น

เนื่องจากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม ทำให้เมื่อมีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ เช่น ยางพารา สับปะรด กุ้งขาวแวนนาไม จึงมีกลุ่มเกษตรกรหรือองค์กร ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเกษตรกรออกมาเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำผ่านการสนับสนุนงบประมาณชดเชยต้นทุนการผลิตหรือขอรับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต
การรับจำนำและประกันราคาผลผลิต ซึ่งอาจจะนอกเหนือภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบหรือเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของเกษตรกรได้
ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดแผนการผลิตทางการเกษตรเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เป็นรูปธรรม มีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำในการดำเนินการจึงให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ ดังนี้

1. มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ (Mr.) ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในแต่ละชนิดพืช ประมง ปศุสัตว์ สำรวจและจัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร ของแต่ละฤดูกาลผลิต ในด้านพื้นที่การผลิต และปริมาณผลผลิต รวมถึงข้อมูลอื่นที่จำเป็นต่อการวางแผนการผลิต โดยจัดทำข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี และคาดการณ์ปริมาณการผลิตทางการเกษตร ในปี 2561/2562 พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละปี

2. ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อขอทราบข้อมูลความต้องการผลผลิตทางการเกษตร ของแต่ละชนิดพืช ประมง ปศุสัตว์ ที่เป็นข้อมูลปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศตลอดจนความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนข้างต้น ความต้องการผลผลิตทางการเกษตร และ ข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการจัดทำแผนการผลิตทางการเกษตรโดยจะกำหนดพื้นที่ ชนิด ปริมาณ ที่เหมาะสมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรในแต่ละปี เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนไม่เกินความต้องการของตลาด และราคาตกต่ำ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผลิตสินค้าเกษตรที่ไร้ทิศทางหรือปราศจากแผน ทั้งนี้ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ศึกษาแนวทางตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 ประกอบด้วยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะสามารถอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว

ประกาศเขตเกษตรเศรษฐกิจ เพื่อให้เกษตรกรต้องทำการเกษตรตามแผนการผลิตทางการเกษตรหรือกำหนด เงื่อนไขอื่นๆ ในการผลิต เช่น ต้องทำการเกษตรตามสภาวะแวดล้อม คุณภาพดิน (Zoning By Agri Map) การรวมกลุ่มทำการเกษตร การปรับเปลี่ยนมาทำการปลูกพืชหรือปศุสัตว์ที่มีต้นทุนต่ำ และตลาด มีความต้องการสูงได้หรือไม่ และเมื่อเกษตรกรรายใดทำการเกษตรกรรมตามแผนดังกล่าวแล้วจะได้รับการช่วยเหลือ และคุ้มครองจากหน่วยงานรัฐเมื่อผลผลิตเสียหาย แต่หากเกษตรกรรายใด ไม่ทำการผลิตตามแผนการผลิตทางการเกษตรดังกล่าว ก็จะไม่สามารถมาร้องขอความช่วยเหลือใดๆ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานของรัฐได้อีกต่อไป ทั้งนี้ ขอให้เร่งรัดรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 10 กรกฎาคมนี้

ที่มา : มติชนออนไลน์