ททท. หนุนท่องเที่ยวเชิงเกษตร สวนทุเรียนปลอดสาร ระนอง-ชุมพร

เมื่อเร็วๆ นี้ นายวริช วิชิต รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงาน ชุมพร-ระนอง ได้รับมอบหมายจาก นางวิริยา แก่นแก้ว ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงาน ชุมพร-ระนอง ให้นำสื่อมวลชนสำรวจเส้นทางเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-Tourism) ด้วยการเดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง พื้นที่ หมู่ที่ 1 ต.ในวงเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่าง อ.ละอุ่น จ.ระนอง กับ ต.เขาทะลุ อ.สวี จ.ชุมพร และพื้นที่บ้านควนสามัคคี หมู่ที่ 13 ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร

ได้พบ นางจารึก ขนอม อายุ 63 ปี เจ้าของสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง 40 ไร่ เล่าให้ฟังว่า เดิมเป็นชาว จ.นครศรีธรรมราช และย้ายมาอยู่ใน ต.ในวงเหนือ เมื่ออายุ 22 ปี เริ่มแรกทำสวนกาแฟก่อนหันมาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ประมาณ 30 ปีแล้ว ตอนนี้มีทุเรียนอยู่ 200 ต้น ให้ผลผลิตปีละประมาณ 40 ตัน มีรายได้ปีละประมาณ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ในระยะแรกที่ปลูกทุเรียนใช้ปุ๋ยเคมีกับสวนทุเรียนมา 20 กว่าปี มีผลกระทบมากมาย เช่น ราคาปุ๋ยค่อนข้างสูง ระยะแรกแม้จะให้ผลผลิตดี แต่ดินเริ่มเสีย ทำให้ต้นทุเรียนทยอยตายลง ส่วนสุขภาพได้รับผลกระทบ รู้สึกเวียนศีรษะและมีผื่นคันขึ้นตามตัวทุกครั้งหลังใส่ปุ๋ยเคมีให้ต้นทุเรียน

“จนเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ฟังพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เป็นลักษณะลองผิดลองถูก จนได้พบ นายเนติ สัจจวิโส อดีตอาจารย์สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งหนึ่งที่เข้ามาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งใช้ขี้ไก่ผสมกับน้ำชีวภาพ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ 1 ปีครึ่ง พบความเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุเรียนที่มีท่าว่าจะตายก็กลับฟื้นขึ้นมา ส่วนผลทุเรียนสวยงาม ติดลูกดี และสภาพร่างกายของตนและคนที่มีหน้าที่ใส่ปุ๋ยให้ต้นทุเรียนก็ดีขึ้น จึงอยากให้ชาวสวนทุเรียนทุกคนให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและความปลอดภัยของผู้บริโภค” นางจารึก กล่าว

หลังจากนั้น ได้ลงพื้นที่บ้านควนสามัคคี ได้พบ นายชิวา เพชรกระจาย อายุ 59 ปี และ นางปรีดา เพชรกระจาย อายุ 53 ปี สองสามีภรรยาเจ้าของสวนทุเรียนปลอดสารพิษพันธุ์หมอนทอง หมู่ที่ 13 ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร

โดย นายชิวา และนางปรีดา เล่าว่า อยู่ในพื้นที่นี้มาประมาณ 30 ปี โดยทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในส่วนสวนทุเรียนมีประมาณ 16 ไร่ ก่อนหน้านี้ใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อทุเรียนออกลูกแล้วต้นจะโทรม ใบร่วง และทยอยล้มตายไปเรื่อยๆ ส่วนคนที่ฉีดสารเคมีเมื่อฉีดเสร็จก็ต้องล้มตัวนอนทันที เพราะรู้สึกเวียนศีรษะและคันตามผิวหนัง จนได้พบอาจารย์เนติที่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาประมาณ 6 เดือน พบความเปลี่ยนแปลงคือ ต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วมีทีท่าว่าจะตายกลับพลิกฟื้นขึ้นมาใหม่ ส่วนที่เคยมึนศีรษะและคันตามผิวหนังหลังฉีดปุ๋ยให้ทุเรียนก็หายไป สามารถฉีดปุ๋ยให้ทุเรียนครั้งละ 10 ต้น เลยทีเดียว

ด้าน นายสมคิด สังปริเมน อายุ 60 ปี และ นางเตือนใจ สังปริเมน อายุ 56 ปี ชาวหมู่ที่ 7 ต.วิสัยใต้ อ.สวี จ.ชุมพร กล่าวว่า หลังจากหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียนที่มีอยู่ 10 ไร่ เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว พบความเปลี่ยนแปลงคือ ทุเรียนที่เพิ่งตัดเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้ว ตอนนี้เริ่มออกลูกอีกประมาณ 3,000-4,000 ผล ส่วนร่างกายที่เคยรู้สึกเวียนศีรษะและคันตามผิวหนังก็หายไป ช่วงที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมีต้นทุนประมาณ 1.4-1.5 แสนบาท แต่เมื่อหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้นทุนลดลง เหลือประมาณ 60,000 บาท เท่านั้น ตนพยายามชวนให้ชาวสวนคนอื่นๆ หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี แต่คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

นายปกาสิต พระประสิทธิ์ นายอำเภอสวี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียน ถือเป็นการให้ความสำคัญกับตนเองและผู้บริโภค เพื่อลดการใช้สารเคมีทุกประเภท หันมาใช้วิธีธรรมชาติในการปลูกทุเรียน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ทุเรียน และทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยในการซื้อทุเรียนจาก อ. สวี ไปบริโภคกัน ในฐานะที่เป็นภาคราชการพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในพื้นที่ อ.สวี มีเกษตรกรปลูกทุเรียน ประมาณ 33,000 ไร่ ดังนั้น อยากให้เกษตรกรที่กำลังใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับสวนทุเรียนเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ให้ทุกๆ สวนใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมดทั้งอำเภอ

นางทิวาพร จันทรอาภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ครน กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ยังมีเกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ไม่กี่คน แต่ อบต. ครน กำลังขยายผลให้เกษตรกรทุกๆ คนหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันให้หมด ซึ่งต้องใช้เวลา ชาวสวนที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เหล่านี้เป็นต้นแบบในการดำเนินวิถีเศรษฐกิจแบบพอเพียง ผลที่ตามมาคือ สารเคมีซึมลงสู่แหล่งน้ำจะค่อยๆ หมดไป

“กรณีที่ ททท. จะส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการพานักท่องเที่ยวมาชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกหนึ่งทาง ซึ่งใน ต.ครน กำลังมีการจัดที่พักในรูปแบบโฮมสเตย์ รวมทั้งยังมี “น้ำตกขานาง” และมีถ้ำที่สวยงามต่างๆ เช่น ถ้ำแก้ว ถ้ำเขาหลัก ถ้ำเสือแก้ว ฯลฯ ที่พร้อมจะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสด้วย” นางทิวาพร กล่าว

ด้าน นายเนติ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการคือ ทำอย่างไรให้ธรรมชาติกลับมาสู่สวนเกษตร เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทำให้แปลงเกษตรกลายเป็น “ป่าเกษตร” (Agro-Forest) แบบยั่งยืน ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่พึ่งพาแต่สารเคมีที่มีผลเสียทั้งต่อตนเองและผู้บริโภค การใช้วิธีทางธรรมชาติ สิ่งที่ตามมาคือ เกษตรปลอดภัย และปุ๋ยอินทรีย์ที่แนะนำให้ชาวบ้านหันมาใช้มีวิธีทำง่ายๆ มาจากมูลสัตว์เป็นหลัก เช่น ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว และจากพืชต่างๆ ที่อยู่ในสวนนั้นๆ อาจจะมีสารเคมีบ้างเป็นสารที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นายวริช วิชิต รอง ผอ.ททท. ชุมพร-ระนอง กล่าวว่า ททท. ได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร และทราบว่ามีเกษตรกรตื่นตัวในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับต้นทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของทั้งสองจังหวัด จึงต้องการนำเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมสวนทุเรียนปลอดสารพิษ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้เห็นวิธีการปลูกทุเรียนคุณภาพ และมีโอกาสได้รับประทานทุเรียนจากมือของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ อ.ละอุ่น จ.ระนอง และ อ.สวี จ.ชุมพร

ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ปัจจุบันการปลูกพืชด้วยวิธีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีกำลังกลายเป็นกระแสในวงการพืชผลทางการเกษตรของไทย สิ่งที่จะตามมาคือ ความปลอดภัยจากสารเคมีทั้งในผู้ผลิตและในผู้บริโภค และเมื่อมีการนำการท่องเที่ยวเข้ามาสนับสนุนในรูปแบบของ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ก็คงเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการจำหน่ายแต่ผลผลิตเพียงอย่างเดียว