ทานตะวัน พืชน้ำมัน ที่น่าสนใจ

ทุ่งทานตะวันที่กว้างใหญ่ไพศาล มีดอกสีเหลืองอร่ามตา หมู่ผึ้งบินตอมดอกที่เบ่งบานวนเวียนไปมา ในขณะที่ดอกกำลังหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ (positive phototropism) ตอนเช้าจะหันไปทางทิศตะวันออกและชูสู้แสงตะวัน ตอนเย็นหันไปทางทิศตะวันตก

ทานตะวันมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า helianthus annuus 

(helio ดวงอาทิตย์, anthos ดอกไม้ที่งดงาม)

อยู่ในวงศ์ Asteraceae พืชในวงศ์นี้ ที่เรารู้จักคือ บัวตอง เบญจมาศ คำฝอย และดาวเรือง ฯลฯ

เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ได้ข่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ หรือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปัจจุบัน ได้นำพันธุ์ทานตะวันจากประเทศรัสเซีย ชื่อพันธุ์ Saratovsky มาทดลองปลูกในประเทศไทย เนื่องจากพันธุ์ดังกล่าวเป็นพันธุ์ผสมเปิด ต้องใช้แมลง จำพวกผึ้งมาช่วยผสมเกสร จึงจะได้ผลผลิต ซึ่งในระยะนั้น การเลี้ยงผึ้งยังไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน และคิดว่าคงยังไม่มีอุตสาหกรรมน้ำมันพืชของภาคเอกชนรองรับการปลูกทานตะวันในช่วงนั้น จึงไม่ได้ดำเนินการต่อ

ทานตะวันถึงแม้จะมีดอกสมบูรณ์เพศ แต่เป็นพืชที่ผสมข้ามเป็นส่วนใหญ่ เพราะเกสรตัวผู้จะเจริญ (fertile) ก่อนเกสรตัวเมีย จึงต้องใช้แมลง เช่น ผึ้ง เป็นพาหะนำละอองเรณูไปผสมต่างดอกกัน ในช่อดอก จะมีดอกย่อย (สมบูรณ์เพศ) อยู่เป็นพันๆ ดอก ตั้งแต่ 700-3,000 ดอก และพันธุ์ที่ให้น้ำมัน (oil type) มีถึง 8,000 ดอก ดอกจะบานตั้งแต่รอบนอกเข้าไปสู่ศูนย์กลาง รอบนอกสุดเป็นกลีบดอก และถ้ามีการผสมติด ก็จะติดเมล็ดตั้งแต่รอบนอกเข้าไปเช่นเดียวกัน แถบศูนย์กลาง วงในของช่อดอกมักจะผสมไม่ติด

เมื่อประมาณปี 2526 ในช่วงนั้น สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับความช่วยเหลือ โครงการพัฒนาพืชน้ำมันจากสหภาพยุโรป สมัยนั้นเรียกว่า EEC ซึ่งได้มีมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมในโครงการด้วย ซึ่งในช่วงเดียวกัน ทางบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด (คุณสุขเกษม จิตรสิงห์) ได้สั่งเมล็ดพันธุ์ทานตะวัน ลูกผสม ไฮซัน ๓๓ เข้ามาจากออสเตรเลีย ซึ่งหลังจากงานทดสอบในแปลงทดลองของมหาวิทยาลัยแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความร่วมมือกับบริษัท มาทำแปลงทดสอบในท้องถิ่น ซึ่งยึดเอาพื้นที่ๆ ปลูกพืชไร่ปลายฤดูฝนจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ทดสอบ ภายใต้การให้คำแนะนำจากหน่วยงานวิจัยและวิชาการต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพืชน้ำมัน  ต่อมาได้มีบริษัทเมล็ดพันธุ์อีกหลายแห่งได้ส่งพันธุ์ลูกผสมมาร่วมทำแปลงทดสอบกับเราด้วย ปรากฏว่าได้ผลดี

เนื่องด้วยทานตะวันเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ในพื้นที่แห้งแล้ง เพราะมีระบบรากลึก นัยว่า ถ้าดินชั้นบนแห้งแล้ง ทานตะวันสามารถหยั่งรากลึกลงไปในดินเพื่อดูดน้ำธาตุอาหารได้ลึกถึง 30 เซนติเมตร หรือ

อาจจะหยั่งรากได้ลึกถึง 100 เซนติเมตร ถ้าแล้งจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากดินดี มีความชื้นอุดมสมบูรณ์ ทานตะวันก็สามารถให้ผลผลิตสูง ข้อดีของพันธุ์ลูกผสมคือ สามารถผลิตละอองเรณูที่ติดอยู่ก้านชูเกสรตัวเมียมากกว่าพันธุ์ผสมเปิด 3-4 เท่า ทำให้ไม่ต้องใช้แมลงช่วยผสมเกสร แต่อย่างไรก็ตาม การใช้แมลงช่วยผสมเกสร ก็จะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก ราว 30 เปอร์เซ็นต์

เมื่อมีการจัดทำแปลงทดสอบพันธุ์ในท้องถิ่นตามโครงการพัฒนาพืชน้ำมันได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยการนำของท่านรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (คุณอนันต์ ดาโลดม) ในสมัยนั้น ได้จัดงบประมาณ ปีละประมาณ 300 ล้านบาท จัดหาเมล็ดพันธุ์ ไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชครั้งที่ 2 ปลายฤดูฝน เพื่อให้ออกดอกในช่วงแล้ง ตอนที่ไม่มีฝน เพราะฝนทำให้ดอกและเมล็ดเสียหาย วิธีการ คือให้ใช้เมล็ดพันธุ์ ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อไร่ เมล็ดพันธุ์มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 90 บาท แต่จำหน่ายให้เกษตรกรด้วยเงินสด กิโลกรัมละ 2 บาท ที่ไม่แจกฟรีเลย เพราะให้เกษตรกรเห็นคุณค่าว่าเมล็ดพันธุ์นี้มีคุณค่าและราคา และที่จำหน่ายด้วยเงินสด เนื่องจากไม่ต้องการให้มีหนี้สินติดค้าง ต้องตามทวง ซึ่งเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น

พื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกทานตะวัน ได้แก่ จังหวัดสระบุรี ลพบุรี หรือที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง ในปี 2534-2535 ด้วยพื้นที่ 12,000 ไร่ และได้ทำโครงการนี้ต่อนับเป็น 10 ปี ซึ่งต่อมา มีพื้นที่ปลูกหลายแสนหรืออาจจะถึงล้านไร่ กระจายไปจังหวัดใกล้เคียงด้วย โดยได้รับการตอบสนองจากเกษตรกรทั่วๆ กัน จนทานตะวันติดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เกษตรกรปลูกจนถึงทุกวันนี้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังของชาวเมือง แหล่งปลูกทานตะวันที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ นครราชสีมา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เชียงราย ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุดรธานี

ตามปกติ เมล็ดพันธุ์ทานตะวันลูกผสมนี้ ถ้านำไปปลูกแบบถูกวิธี คือปลูกเป็นแถวเป็นแนว มีการให้น้ำหว่านปุ๋ยพอสมควร จะให้ผลผลิตสูง แต่อาจจะมีเหตุผลบางอย่าง เช่น ขาดแคลนแรงงาน หรือขาดเครื่องมือเครื่องจักร เกษตรกรจึงได้นำไปหว่านในแปลง ทำให้ได้รับผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม ทางโรงงานน้ำมันพืชหลายโรง โดยเฉพาะโรงงานน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าว

เช่น บริษัทน้ำมันรำข้าวสุรินทร์ เป็นแห่งแรกที่ทำสัญญารับซื้อทานตะวัน และต่อมา บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช (กุ๊ก) โรงกลั่นน้ำมันนครชัยศรี (ตราองุ่น) และบริษัท กมลกิจ จำกัด (น้ำมันรำข้าว) ก็ยินดีที่จะซื้อเมล็ดทานตะวันเข้าโรงงาน เพื่อทำเป็นน้ำมันทานตะวันออกจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงนั้น เกษตรกรที่เคยปลูกถั่วเหลือง ได้หันไปปลูกพืชอื่นแทน เนื่องจากได้ผลดีกว่า โรงงานน้ำมันพืชจึงเริ่มสนใจทานตะวัน และยังมีเอกชนมาร่วมวางแผน ซื้อทานตะวันไปเข้ากระบวนการผลิต เป็นของขบเคี้ยวด้วย ทั้งนี้ การคัดเลือกพันธุ์ทานตะวันที่ใช้บริโภค (confectionary type) ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ และโปรตีนสูง ก็สามารถทำได้ และเมล็ดทานตะวันที่ตกเกรด หรือกากทานตะวัน สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะมีคนปลูกทานตะวันไปเลี้ยงนก

น้ำมันทานตะวัน เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี ใช้ในการหุงหาอาหารที่ไม่ใช้ความร้อนมากและนานเกินไป เพราะจัดอยู่ในประเภท soft oil มีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวอยู่สูง เกินร้อยละ 80 ซึ่งประกอบด้วย กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (oleic acid) สูงถึงกว่า ร้อยละ 40 และกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (linoleic acid ฯลฯ) ร้อยละ 30 กว่าๆ ที่เหลือก็เป็นกรดไขมันอิ่มตัวเพียงเล็กน้อย นอกจากนั้น มีวิตามินอี และสารอื่นๆ ที่ร่างกายต้องการ สำหรับกรดไขมันเชิงเดี่ยวนั้น ทราบว่ามีคุณประโยชน์ ไม่ทำให้ผู้สูงอายุประสบโรคภัยเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือมะเร็ง แต่ก็เคยได้ยินว่า การบริโภคน้ำมันพืชนั้นให้ดูวัตถุประสงค์การทำอาหารว่าจะต้องใช้การทอดที่ร้อนแรงหรือไม่ หรือเป็นการทำอาหารในครัวเรือนตามปกติ ก็จะได้เลือกใช้น้ำมันพืชได้ถูกต้อง และควรเปลี่ยนน้ำมันพืชบริโภคหลายๆ ชนิดในการทำอาหารประจำวัน เช่น น้ำมันรำข้าว ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน

กล่าวโดยสรุป คือการส่งเสริมให้มีการปลูกทานตะวันนั้น เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน เริ่มต้นจากการทำแปลงทดสอบในท้องถิ่นให้เกิดความมั่นใจในข้อมูลก่อน แล้วจึงทำการส่งเสริมโดยใช้มาตรการที่จูงใจเกษตรกร มีข้อเสียที่ไม่ได้เน้นตั้งแต่ระยะแรกๆ คือแนะนำวิธีปฏิบัติรักษาให้ได้ผลผลิตสูง ทำให้เกษตรกรปลูกแบบหว่านเหมือนพืชปลายฤดูฝนอื่นๆ และเมื่อได้ผลผลิตแล้ว ได้เริ่มโครงการแบบครบวงจร ขอให้เอกชนรับซื้อผลผลิตในราคาที่จูงใจพอสมควร ในตอนนี้ เมื่อมีใครเอ่ยถึงทุ่งทานตะวัน พวกเราชาวส่งเสริมการเกษตรจะภูมิใจมาก เพราะเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมทำกันมา