แผ่นมาสก์ไบโอเซลลูโลส จากน้ำมะพร้าวเหลือทิ้ง

แผ่นมาสก์ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว เป็นผลงานวิจัยของ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร

รศ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ หนึ่งในคณะผู้วิจัย บอกว่า แผ่นมาสก์ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว เป็นการวิจัยและพัฒนาน้ำมะพร้าวแก่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร ที่ได้จากกระบวนการผลิตกะทิและไม่ได้รับความนิยมในการนำไปบริโภค

“ประโยชน์หลักๆ ของน้ำมะพร้าวแก่ที่เห็นชัดตอนนี้คือ การนำไปทำวุ้นมะพร้าว ของกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ซึ่งจะทำออกมาจำหน่ายกันในราคาเพียง กิโลกรัมละ 4 บาท เท่านั้น”

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ปริมาณน้ำมะพร้าวแก่นั้นมีอยู่มาก และยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดวิจัยการนำของเหลือทิ้งดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ และประสบความสำเร็จจนได้แผ่นมาสก์ไบโอเซลลูโลส ที่มีราคาต่อหน่วยนับ 1 ชิ้น ตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงหลักร้อยบาท และหากมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยผ่านผู้ผลิตเครื่องสำอางชั้นนำของโลก ราคาในท้องตลาดจะเพิ่มไปเป็นหลักพันบาททีเดียว

ผลงานการวิจัยชิ้นนี้ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างน่าสนใจอีกด้วย

แต่ที่น่าสนใจอีกประการคือ ความสามารถในการผลิตมาสก์ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว ในโลกนี้มีเพียง 2 ประเทศ ที่ทำได้ คือ ไทย กับเวียดนาม เท่านั้น

 

รศ.ดร. พรอนงค์ บอกว่า กรรมวิธีการในการผลิตแผ่นมาสก์ดังกล่าว จะนำน้ำมะพร้าวแก่มาเพาะเลี้ยงด้วยจุลินทรีย์จนได้วุ้นออกมา โดยอยู่ภายใต้กรรมวิธีการผลิตที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ จึงทำให้แผ่นมาสก์ที่แตกต่างจากแผ่นมาสก์ผ้าหรือกระดาษที่มีจำหน่ายกันโดยทั่วไป

“สิ่งที่แตกต่างคือ เส้นใยมีความละเอียดและบางเบามาก ทำให้แผ่นมาสก์มีความคงตัวสูงเมื่อเวลาติดลงบนผิวหนังจะเรียบเนียนเสมือนเป็นผิวหนังชั้นที่ 2 จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสารต่างๆ ที่มีอยูในน้ำมะพร้าว ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีและช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้น และในการผลิตแผ่นมาสก์ที่เราคิดค้นขึ้นนั้น ยังได้มีการเพิ่มสารบำรุงผิว ได้แก่ โอกรตีนกาวไหม ที่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มความชุ่มชื้นและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนให้แก่ผิวหนัง” รศ.ดร. พรอนงค์ กล่าว

คุณประโยชน์สำคัญของแผ่นมาสก์ไบโอเซลลูโลส คือการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้แสงเลเซอร์ในการเสริมความงาม

“คุณสมบัติสำคัญของแผ่นมาสก์นาโนไบโอเซลลูโลสที่มีสารป้องกันการเกิดสีผิวเข้มผิดปกติผสมโปรตีนกาวไหมสามารถลดการเกิดความผิดปกติของผิวหลังการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ และยังช่วยบำรุงผิวที่ลึกล้ำ โดยไม่ก่อให้เกิดความระคายเครืองแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์”

รศ.ดร. พรอนงค์ บอกว่า ในปัจจุบันกระแสการดูแลความงามและความใส่ใจดูแลผิวพรรณมีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าให้อ่อนวัยกว่าเดิม การทำให้ผิวขาว ใบหน้าอ่อนใสเหมือนผิวเด็ก ส่งผลให้มีการนำเครื่องเลเซอร์มาใช้งานในการดูแลรักษาผิวพรรณ

วัตถุประสงค์หลักในการใช้แสงเลเซอร์ดูแลผิวพรรณนั้น คือเพื่อปรับสภาพผิวหนังให้เนียนเรียบ โดยทำให้รูขุมขนเล็กลง ทำให้สีผิวสม่ำเสมอ และลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ลบรอยเส้นเลือดฝอยและทำลายเส้นขน

แต่ผลที่ออกมานั้นใช่ว่า จะมีแต่ความงามเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบในผู้เข้ารับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์เกือบทุกรายคือ อาการปวดแสบปวดร้อน การเกิดผื่นแดง และการเกิดภาวะสีผิวเข้มผิดปกติ Hyper Pigmentation

การเกิดภาวะสีผิวเข้มผิดปกติ นับเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ที่รุนแรง ซึ่งบางครั้งอาจกลับมาเป็นซ้ำหรือรุนแรงกว่าเดิม ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยแสงเซอร์นี้ ส่วนใหญ่จะพบได้มากในผู้เข้ารับการรักษาที่มีสีผิวคล้ำ โดยเฉพาะชาวเอเชีย ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีในการแก้ปัญหาเรื่องของการเกิดภาวะสีผิวเข้มผิดปกติหลังกการรักษาด้วยแสงเซอร์ที่ชัดเจน

“ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดและความร้อน ภายหลังการรักษาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ร่วมกับการใช้ยาที่มีสารสเตียรอยด์เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในผู้รักษาบางรายอาจเกิดอาการแพ้สารสเตียร์ร่วมได้อีกด้วย” รศ.ดร. พรอนงค์ กล่าว

รศ.ดร. พรอนงค์ กล่าวอีกว่า คุณสมบัติของแผ่นมาสก์นาโนไบโอเซลลูโลส มาสก์ไบโอเซลลูโลสจากน้ำมะพร้าว จะช่วยป้องกันการเกิดผิวสีเข้มผิดปกติหลังการรักษาผิวหน้าด้วยแสงเลเซอร์ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน รวมทั้งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง

นี่จึงเป็นอีกความน่าภาคภูมิใจของการคิดค้นวิจัยที่มาจากนักวิจัยของไทย และได้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก