อินโดฯ ยิ้มรับ “ขาขึ้น” หวังถก FTA อียูช่วยฟื้นเศรษฐกิจ

“เป้าหมายสูงสุด” ของอินโดนีเซีย คือ การก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด โดยมุ่งมั่นจะสำเร็จภายในปี 2568 และขยับขึ้นติดอันดับ 1 ใน 6 ของโลกในปี 2593 ด้วยปัจจัยบวกของความหลากหลายในการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ และเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกมานาน

โดยเฉพาะ “น้ำมันปาล์ม” สินค้าหลักที่ดันให้อินโดนีเซียอยู่ในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก รองมาคือ “โกโก้และดีบุก” ที่ยืนในตำแหน่งผู้ผลิตอันดับสอง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น นิกเกิลและอะลูมิเนียม ที่มีมากเป็นอันดับ 4 และ 7 ของโลก อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการผลิตเหล็ก ทองแดง และประมงด้วย

จากปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลวางแผนแม่บทเพื่อมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ 15 ปี ระหว่างปี 2554-2568 ภายใต้ชื่อ “MP3EI” โดยเน้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 8 ด้าน คือ การเกษตร เหมืองแร่ พลังงาน อุตสาหกรรม ประมง ท่องเที่ยว การสื่อสาร และการพัฒนาพื้นที่สำคัญ ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด 22 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมขนส่ง, สิ่งทอ, อาหารและเครื่องดื่ม, เหล็ก, น้ำมันปาล์ม, ยางพารา, โกโก้ และถ่านหิน เป็นต้น

การพัฒนาตามแผนที่วางไว้ยังมุ่ง “การเชื่อมโยงเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก” อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการเจรจาการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอินโดนีเซียและสหภาพยุโรป (อียู) ครั้งแรกปลายปีนี้

ไซง่อน เดลี่ รายงานว่า “เซซิเลีย มาล์มสตรอม” กรรมาธิการการค้าของอียูและ “ทอม เลมบง” รัฐมนตรีพาณิชย์อินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า 28 ประเทศสมาชิกอียูเห็นพ้องว่า การเปิดเวทีเจรจาข้อตกลง FTA กับอินโดนีเซีย จะสร้างมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น

“ขนาดตลาดของสองฝ่ายรวมกันมีผู้บริโภคสูงถึง 750 ล้านคน โดยอียูมีสถานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 4 ของอินโดนีเซีย ขณะที่อินโดนีเซียเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของอียูในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 30 ของโลก การเจรจาครั้งนี้นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย”


ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่าง “อินโดนีเซีย-อียู” มากกว่า 2.5 หมื่นล้านยูโร ในปี 2558 (จาก 2.4 หมื่นล้านยูโร ปี 2557) โดยอินโดนีเซียได้ส่งออกไปตลาดอียูราว 1.5 หมื่นล้านยูโร ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร น้ำมันปาล์ม แร่ธรรมชาติ สิ่งทอ และสินค้ากึ่งผลิต ขณะที่อียูส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุปกรณ์ขนส่ง สินค้าโภคภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และอาหารแปรรูป ไปตลาดอินโดนีเซีย

ด้าน นายโทมัส ตรีกาชีห์ เลมบง รัฐมนตรีเกษตรอินโดนีเซีย กล่าวว่า อัตราภาษีนำเข้าของอียูในปัจจุบัน ทำให้สินค้าเกษตรอินโดนีเซียเสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นที่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าหากการเจรจาFTA บรรลุผลสำเร็จ จะส่งผลให้สินค้าเกษตรของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบ โกโก้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ได้รับอานิสงส์ และสามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไรก็ตามการเจรจาอาจต้องใช้เวลานานกว่า 2 ปี เนื่องจากปัญหาภายในของอียูที่ยังต้องสะสางเพื่อช่วยในการตัดสินใจของรัฐบาลอินโดนีเซีย

นักวิชาการอิสระของอินโดนีเซียระบุว่า การเจรจาครั้งนี้อาจไม่ง่ายนัก เพราะอยู่ในช่วงที่นโยบายการค้าของอียูกำลังเผชิญแรงต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และที่ผ่านมากลุ่มประเทศสมาชิกจำนวนมากเริ่มกังขาถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงที่ได้รับจากกรอบ FTA

ตัวอย่างกรณี การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอียู-แคนาดา ที่เสร็จสิ้นลงตั้งแต่ปี 2557 แต่ข้อตกลงขั้นสุดท้ายต้องถูกเลื่อนออกไป หลังรัฐบาลของสมาชิกยุโรปบางประเทศคัดค้านข้อกำหนดในเรื่องของการปกป้องนักลงทุน ที่เรียกว่า “In-vestor-State Dispute Settlement” ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติยื่นฟ้องรัฐบาลท้องถิ่นกับศาลที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดความกังวลว่า บริษัทเอกชนจะใช้กระบวนการดังกล่าวป้องกันไม่ให้รัฐบาลออกกฎหมายที่เข้มงวดในด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ขณะที่การเจรจาของอียูกับสหรัฐ ในกรอบ “TTIP” หรือข้อตกลงการค้าเสรีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกยังส่อแววที่จะล่มกลางทางเช่นกัน

แม้ข้อตกลงล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนกฎชัดเจนขึ้นระบุว่ากฎดังกล่าวจะไม่ลิดรอนสิทธิของรัฐบาลในการออกกฎหมายพร้อมกับตั้งศาลถาวรขึ้นมาเพื่อตัดสินข้อขัดแย้งในเรื่องการลงทุน แต่เชื่อว่ารัฐบาลโจโก วิโดโด อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาเงื่อนไขอย่างถ่องแท้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ล่าสุดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5-5.4% โดยได้รับแรงหนุนมาจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก แม้จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกรอบการค้า FTA กับอียูอาจช่วยอุ้มเศรษฐกิจหลังซบเซามานาน

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์