ราคายางขึ้น…วิบวับ แต่ก็มาทันเวลาพอดี

นับเป็นข่าวดีที่สุดในรอบหลายปีสำหรับราคายางพาราที่กระเตื้องขึ้น ทำให้เกษตรกรชาวสวนยาง คนรับจ้างกรีดหลายล้านคน รวมไปถึงนายหัว นายทุน พ่อค้ายางยิ้มได้ มีกำลังใจขึ้นอีกโข หลังจากเจอสภาพราคายางดิ่งเหว 3 โล 100 กลายเป็นภาพที่ดูเหมือนว่าเป็นพืชที่ไร้อนาคตซะแล้ว

เหตุการณ์นั้นทำเอาผู้คนในวงการยางพาราเดือดร้อนสาหัส หลายชีวิตตกสวรรค์ จากคนเคยรวย ใช้จ่ายเงินมือเติบ กลายมาเป็นคนแบกหนี้ หลายชีวิตต้องอดทนรอคอยราคายางจะดีขึ้นสักวัน

หลายชีวิตปรับตัวกันอลหม่าน ลูกหลานไม่มีเงินเรียนต่อก็เยอะ หลายชีวิตพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส หันไปปลูกพืชแบบผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์

หลายชีวิตถอดใจโค่นยางทิ้ง เปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน ทุเรียน กล้วยหอมทอง หลายชีวิตต้องทิ้งไร่ทิ้งสวนหันไปทำอาชีพอื่นก็มี

หลายชีวิตก็ดิ้นรน มีการรวมกลุ่มกันลงทุน ลงแรงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่ายาง เช่น ยางเครพ ยางล้อรถยนต์และอุปกรณ์ ยางปูพื้นสนามกีฬา กระเบื้องมุงหลังคา ของใช้ในบ้าน

ที่ฮอตฮิตก็คือ หมอนยางพารา แต่ที่เดินหน้าทำกันได้ส่วนหนึ่งก็เพราะได้แรงหนุนจากหน่วยงาน และสถาบันการศึกษาเพราะต้องใช้ทั้งทุนและเทคโนโลยี จึงจะผลิตโปรดักต์ต่าง ๆ ออกมาได้

ขณะที่รัฐบาลก็ปลุกกระแสให้หน่วยงานรัฐในกระทรวงต่าง ๆ หันมาใช้ยางพาราให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ ไม่ใช่พึ่งตลาดส่งออกทั้ง 100% โดยเฉพาะการทำถนนยางพารา สนามกีฬา-ลู่วิ่ง ทางจักรยาน สนามเด็กเล่น

แต่เอาเข้าจริง สิ่งเหล่านี้ก็ขยับเขยื้อนกันได้น้อยมาก พอนานวันไป ความสนใจของผู้บริหารประเทศและผู้คนก็หายไปด้วย

ในฝั่งเกษตรกร ส่วนใหญ่ก็ปรับตัวและอยู่กับมันได้ แบบมีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้นไปก่อน เจ้าของสินค้าต่าง ๆ ก็โอดโอย เจอหางเลขยอดขายลดวูบไปด้วย กระทั่งปีนี้ราคายางค่อย ๆ โงหัวไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนทะลุ 60-70-80 บาท/กิโลกรัม

วันนี้ชาวสวนยางโล่งใจในระดับหนึ่ง เพราะหากเทียบกับพืชเศรษฐกิจส่งออกตัวอื่น เช่น ข้าว ตอนนี้ชาวนาก็อยู่ในภาวะอกตรม แม้ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิจะขยับขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 8-9 บาท/กิโลกรัม มันสำปะหลังอยู่ที่ 3 บาทกว่า/กก. ยางพาราตีตื้นดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำสถิตินิวไฮ หัวใจพองโตกันไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2559

โดยราคาประมูล ณ ตลาดกลางอำเภอหาดใหญ่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ดีดทะลุ 80.29 บาท/กก. ยางแผ่นดิบขึ้นไปอยู่ที่ 77.25 บาท/กก. น้ำยางสด (ณ โรงงาน) 66.50 บาท/กก. และราคาส่งออก FOB กรุงเทพฯ 85.70 บาท/กก. ส่วนยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 30-35 บาท/กก.

แม้จะมีหลายปัจจัยบวกที่ดันราคายางให้สูงขึ้นมาต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ขึ้นแบบก้าวกระโดดเหมือนในอดีตอีกแล้ว

ตัวเร่งที่สำคัญก็คือ ยางขาดตลาด เพราะภาวะอากาศแปรปรวน ร้อน-แล้ง-ฝนชุก-น้ำท่วม อีกทั้งสต๊อกยางของจีนและญี่ปุ่นลดลงและความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น

แต่…ข่าวดีนี้ก็อยู่ได้แค่ไม่กี่สิบชั่วโมง เพราะคล้อยหลังอีกเพียง 3 วัน ราคายางก็ผันผวนร่วงลงมา 4-5 บาท/กก.

ข้อมูลอีกด้านจากผู้ค้ายาง วิเคราะห์ว่า เป็นกลยุทธ์ของขาใหญ่ที่ปลุก-ปั่นให้ราคายางขึ้นลงเพื่อเก็งกำไร นี่มิใช่ครั้งแรก เพราะราคายางในปีนี้ขึ้น-ลงไม่เสถียรในลักษณะ “ฟันปลา” มาตลอด เป็นการดัดหลังให้พ่อค้ามือรอง หรือพ่อค้ารายย่อยเร่งปล่อยสินค้าที่ตุนอยู่ในมือออกมา ทุนใหญ่ก็เข้ามาช้อนซื้อ ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง

นอกจากนี้ยังมีแรงส่งมาจากพลังทุนนอก เพราะระบบการค้ายางเปลี่ยนไปหลังจากจีนเปิดให้มีการซื้อขายเสรี จึงมีเอกชนจีนบุกเข้ามาซื้อยางโดยตรงจากสถาบันเกษตรกร และพ่อค้ายางในท้องถิ่นของไทยมากขึ้น ตัดวงจรผู้ส่งออกรายใหญ่เพียงไม่กี่รายที่ครองตลาดมานานหลายสิบปี

ราคายางที่ปรับขึ้นจึงยังไม่อาจวางใจได้ แต่ตอนนี้ก็ถือว่ายางพาราเป็นพระเอกที่เข้ามาช่วยเติมกำลังซื้อที่ซบเซาได้ทันเวลาพอดี เพราะมาตรการชะลอการขายข้าว ขายมันสำปะหลัง สิ้นมนต์ขลัง ขณะที่มนุษย์เงินเดือนก็ถูกลดโอที โบนัส และลดพนักงานเป็นระลอก รับเศรษฐกิจปีระกา

หากราคายังยืนได้ระดับนี้ ไม่ขึ้นลงวิบวับ ชาวสวนยางก็จะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว การจับจ่ายก็จะคล่องขึ้น ผู้ผลิตสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ก็จะพลอยได้อานิสงส์กันถ้วนหน้า ยิ่งกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เสียอีก

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์