“ถนนยางพาราดินซีเมนต์” ต้นทุนต่ำ สร้างง่าย ใช้งานได้ดี

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งผลิตและส่งออกทำรายได้มูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ในปี 2553-2555 เกษตรกรขายยางพาราได้ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกยางพารานับล้านไร่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยไม่มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก

ในช่วงปี 2557-2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปฯลฯ จึงหันไปใช้ยางสังเคราะห์ที่มีราคาถูกเพื่อลดต้นทุน ทำให้ราคายางพาราในช่วง 5 ปีหลังปรับตัวลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับปริมาณผลผลิตยางพาราภายในประเทศของไทยที่มีจำนวนมากขึ้น

ปัญหาราคายางตกต่ำส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนมาก รัฐบาลจึงออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือเยียวยาชาวสวนยางพร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ หันมาใช้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น

สร้างถนนยางทุกหมู่บ้านทั่วไทย

เดือนธันวาคม 2561 รัฐบาลประกาศเดินหน้า “โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยดูดซับน้ำยางออกจากตลาดได้จำนวนมาก ช่วยยกระดับเสถียรภาพราคายางพาราให้ปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว

ถนนยางพาราที่ทำเสร็จแล้ว

โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ดำเนินงานโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เน้นปรับปรุงถนนภายในหมู่บ้าน โดยนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนยางพาราที่มีความหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร โดยคาดว่า โครงการถนนยางพาราจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น เพราะใช้วัตถุดิบคือ น้ำยางสด 1,440,614.4 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,326.9600 ล้านบาท วงเงิน92,327.4320 บาท

นวัตกรรมถนนยางพารา ผลงาน “มจพ.”

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมงานวิจัย “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” (Para Rubber Soil Cement) ตั้งแต่ปลายปี 2556 เปิดตัวผลงานวิจัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานวันยางพาราบึงกาฬ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ ได้แรงบันดาลใจจาก นวัตกรรมการทำถนนของ สถาบัน Asian Institute of Technology โดย Prof. Dennes T. Bregado,Director, Asian Center of Soil Improvement and Geosynthetics (ACSIG) ประเทศเยอรมนี ที่นำสารโพลิเมอร์สังเคราะห์มาใช้รักษาคุณภาพถนนที่มีความชื้นสูง เรียกว่า “ถนนโพลีเมอร์ซอยล์ซีเมนต์”

เนื่องจากสารโพลิเมอร์สังเคราะห์ เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ผศ.ดร. ระพีพันธ์ จึงประยุกต์ใช้น้ำยางธรรมชาติมาผสมรวมกับสารเคมีมาสร้างถนนจากน้ำยางพาราสายแรกของประเทศไทย ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี

ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร สามารถใช้น้ำยางพาราสด (DRC 30%) จำนวน 12,000 กิโลกรัม หรือน้ำยางพาราข้น 6,000 กิโลกรัม การทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับถนนดินลูกรังตามชนบทแบบไร้ผิวทางหรือถนนแบบมีผิวทางเป็นคอนกรีตหรือลาดยางมะตอยก็ได้ ที่ผ่านมา มจพ. ได้นำผลงานนวัตกรรมดังกล่าวไปจดอนุสิทธิบัตร เลขที่ 11828 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559

โมเดลตัวอย่างของถนนยางพารา

ข้อดีของถนนยางพาราดินซีเมนต์ คือช่วยเพิ่มความทนทานต่อแรงกดอัด เพิ่มความทนทานต่อแรงดึงและแรงฉีกขาด สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ลดการเกิดฝุ่นในดินและซีเมนต์แล้ว ยังสร้างผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนจะเข้ามาช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมยางพาราขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างผลดีต่อสังคม เพราะการทำถนนยางพาราทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ขนส่งสินค้าเกษตรสู่ตลาดได้อย่างราบรื่น สร้างความเจริญมาสู่สังคมชนบทที่ห่างไกลได้

ถนนยางพารา… สร้างง่าย

การทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ สูตร มจพ. สามารถใช้ยางพาราธรรมชาติ ทั้งน้ำยางสด และน้ำยางข้น ร่วมกับดิน ปูนซีเมนต์ และน้ำยาดัดแปร ด้วยกรรมวิธีการทำถนนแบบดินซีเมนต์ (Soil Cement) ตามมาตรฐานดินซีเมนต์ผสมโพลิเมอร์ ของกรมทางหลวงชนบทได้ ทั้งนี้ มจพ. ได้ดำเนินการทดลองและทดสอบ “น้ำยาดัดแปร” ด้วยการก่อสร้างถนนยางพาราที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรฐาน ผ่านการประเมินผลจากภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท เช่น ค่าการรับน้ำหนัก-UCS (ASTM D2166), ค่าความทึบน้ำ-Permeability (ASTM D2434), ค่าแรงดึง-Indirect Tensile (ASTM C496) โดยใช้ระยะเวลาทดสอบนานกว่า 2 ปี

การทำถนนยางพาราใช้น้ำยางพาราสด 2 กิโลกรัม น้ำยาดัดแปร 0.25 ลิตร และปูนซีเมนต์ 5% ของน้ำหนักวัสดุดิน โดยทั่วไป การทำชั้นโครงสร้างถนนระยะทาง 1 กิโลเมตร หน้ากว้าง 6 เมตร จะใช้ยางพาราสดถึง 12,000 กิโลกรัม (12 ตัน) คิดเป็นปริมาณเนื้อยางแห้งถึง 4 ตัน

การราดน้ำยางพาราบนถนนดินลูกรัง
ใช้รถเกรดเดอร์บดอัดและปรับระดับถนน

ขั้นตอนการสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ เริ่มจากสำรวจพื้นที่ถนนก่อน หลังจากนั้นเตรียมน้ำยางพาราดัดแปร และเตรียมการผสมของปูนซีเมนต์ให้เข้ากับดินลูกรังในคันทางเดิม ขั้นตอนต่อมา ดัดแปรเพื่อผสมกับดินและซีเมนต์ นำส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันด้วยรถเกรดเดอร์ บดอัดและปรับระดับถนนให้ได้ตามมาตรฐาน

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ คาดหวังว่า นวัตกรรมนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำและยกระดับความเป็นอยู่ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน ผลักดันการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นถึง ร้อยละ 20-30 ของปริมาณยางพาราที่เข้าสู่ตลาด และช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30-50 ในอนาคต

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เบอร์ติดต่อ 065-681-8491 อีเมล: [email protected]

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี และ คุณนิพนธ์ คนขยัน ขึ้นเวทีเสวนาการทำถนนยาง

กรมชลประทาน สร้างถนนยางพารา 2,000 กม.

ในปี 2562 กรมชลประทาน เตรียมจัดสรรงบประมาณ 6,900 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อน้ำยางพารา ประมาณ 35,021 ตันเพื่อนำไปซ่อมแซมและปรับปรุงถนนดินลูกรังบนคันคลองชลประทานและถนนในบริเวณหัวงานโครงการชลประทานทั่วประเทศ จำนวน 2,000 กม. เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ดั่งคำขวัญที่ว่า ชลประทาน งานเพื่อแผ่นดินไทย

กรมชลประทาน วางแผนสร้างถนนยางพารา ใน 2 รูปแบบ คือ ถนนยางพาราแอสฟัลติก (ถนนยางมะตอยผสมยางพารา) และถนนยางพาราดินซีเมนต์ ในบริเวณหัวงานโครงการชลประทานและถนนคลองชลประทาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง

ช่วงฤดูแล้ง ดินลูกรังจะมีฝุ่นฟุ้งกระจาย ช่วงฤดูฝน จะมีปัญหาน้ำท่วมขัง ถนนมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ แผนการทำถนนยางพาราในพื้นที่ชลประทาน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และเพื่อสุขภาพอนามัยของเกษตรกรผู้ใช้ทางสัญจรดังกล่าว

เพราะผลวิจัยพบว่า ถนนยางพารา มีความเหมาะสมทั้งในแง่คุณสมบัติด้านวิศวกรรม ทำให้ถนนลูกรังที่ผสมน้ำยางมีความแข็งแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันสภาพผิวถนนยางเป็นที่พึงพอใจของเกษตรกรที่ใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตรหรือใช้สัญจรทั่วไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ตรวจเยี่ยมถนนยางพาราแอสฟัลติก ที่โครงการชลประทานปากคาด

การทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร ความหนาของถนน 15 เซนติเมตร ถนนกว้าง 6 เมตร จะใช้น้ำยางประมาณ 15.12 ตัน/กม. ซึ่งมีสัดส่วนการใช้น้ำยางมากกว่าการสร้างถนนยางพาราแอสฟัลติก ที่ใช้ปริมาณน้ำยางเพียงแค่ 1.65 ตัน/กม.

นอกจากนี้ กรมชลประทานร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำยางพารามาผลิตเป็นอุปกรณ์มาตรวัดน้ำ เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ไร่นาเกษตรกร รวมทั้งพัฒนาเป็นทุ่นดักผักตบชวาไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ เพราะผักตบชวามักจะไหลไปกองปิดกั้นประตูระบายน้ำ โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก ทำให้อัตราการไหลของน้ำช้าลง 40% และเกิดการสูญเสียน้ำจำนวนมาก เพราะผักตบชวาดูดน้ำไปหล่อเลี้ยงตัวเองมากถึง 4 เท่า ของอัตราการระเหยของน้ำ กรมชลประทานจึงพยายามกำจัดผักตบชวาออกจากแหล่งน้ำชลประทานให้ได้มากที่สุด