“กระทรวงวิทย์ฯ จัดงาน Tech Enterprise Thailand 2019 มุ่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค”

วันที่ 28 มกราคม 2562 ณ เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว / รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวง   วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดงานจัดแสดงโครงการการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นฐานเทคโนโลยี หรือ Tech Enterprise Thailand 2018 (TET 2018) ภายใต้โครงการการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นฐานเทคโนโลยี (Tech-based Startup) ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและเครือข่าย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยเครือข่าย จัดขึ้นเพื่อสร้างระบบการสนับสนุนและต่อยอดผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นฐานสำคัญของประเทศ ให้มีความพร้อมในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งงานในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28–29 มกราคม 2562

รศ.นพ. สรนิต กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่เกิดจากอุทยาน  วิทยาศาสตร์ภูมิภาค และต่อยอดผลงานจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายจาก Innovation Hubs ใน 5 กลุ่มเรื่องหลักที่เป็นจุดเน้นของประเทศ ได้แก่ Agriculture & Food, Ageing Society, Smart City, Bioenergy และ Creative Economy เพื่อเกิดผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีรายใหม่ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีทั่วประเทศได้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา ลดความเสี่ยงจากการวิจัยและสามารถตั้งต้นในการทำธุรกิจได้ โดยจะเป็นการปิดช่องว่างในระบบนวัตกรรมของประเทศที่สำคัญ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ต้องเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบาย “วิทย์แก้จนและยกระดับภูมิภาค” ของ วท. ที่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีให้เป็นนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ให้มีความพร้อมในด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และปัจจัยการผลิตในด้านต่างๆ สามารถเข้าสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยใช้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและ นวัตกรรมเป็นเครื่องมือ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีความพร้อมด้านองค์ความรู้ ห้องวิจัยและเครื่องมือต่างๆ รวมถึงบุคลากรประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนในการลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและดียิ่งขึ้น

ในงานดังกล่าว มีการจัดแสดงนวัตกรรมต่างๆ จากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยเครือข่าย มากกว่า 100 ผลงาน อาทิ ไก่ไม่เก๊าต์ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ยูริกต่ำ-ไขมันต่ำ-คอเลสเตอรอลต่ำ กินแล้วไม่เป็นเกาต์ Refun (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เครื่องรับซื้อขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ, ก่ำเจ้า มช. 107 (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ข้าวก่ำสายพันธุ์ใหม่เต็มไปด้วยสารอาหารนานาชนิด, ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมผง (มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง), IRICE (มหาวิทยาลัยพะเยา) ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวลืมผัว, โคราชวากิว (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) โคสายพันธุ์ใหม่, ข้าวฮางเพาะงอก (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ข้าวอินทรีย์คุณภาพสูง และ GISS (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ เป็นต้น รวมถึงมีการขายสินค้าจากผู้ประกอบการที่ได้รับบริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและมหาวิทยาลัยเครือข่าย