ไททา แนะใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ชูประเทศไทยต้องเป็นจุดศูนย์กลางของอาหารโลก

นางวรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย หรือ ไททา เปิดเผยว่า รายได้จากภาคเกษตร คิดเป็น 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ทุเรียน มังคุด แต่ปัจจุบันยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในหลายด้าน และไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น

ภาครัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก แต่ ไททา มองว่าประเทศไทยจะต้องเป็นจุดศูนย์กลางของอาหารโลก ที่มีคุณภาพและพัฒนาให้เป็นแบรนด์ของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่จุดเริ่มต้น เกษตรกร ปัจจัยการผลิต ระบบการเพาะปลูก การส่งเสริมและสนับสนุน จนถึงการตลาดและจัดจำหน่าย

ปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ จึงอยากให้พรรคการเมืองต่างๆ หยุดนโยบายประชานิยม หันมาพิจารณาแนวทางที่เป็นจริงและก่อประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะนโยบายภาคการเกษตร อันเป็นรายได้หลักของประเทศ

ซึ่ง ไททา เสนอ 3 นโยบายหลักด้านการเกษตรที่อยากให้พรรคการเมืองนำไปชูเป็นนโยบายพรรค ได้แก่ 1. เกษตรกรสร้างชาติ เป็นการส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ ประสานร่วมกับภาคเอกชน อุตสาหกรรมและรัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง รวมทั้งเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรในสาขาต่างๆ ที่มีประสบการณ์ เข้ามาพัฒนาภาคการเกษตร ไม่ใช่ให้ผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์มาบริหารหรือจัดการภาคเกษตร

2. เกษตรมาตรฐาน จีเอพี ใช้สารเคมีปลอดภัย ส่งเสริมความรู้การเกษตรมาตรฐาน จีเอพี ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในหลายประเทศใช้มาตรฐานนี้ในการกีดกันสินค้าจากไทย ปัจจุบัน ภาครัฐให้เกษตรกรใช้มาตรฐาน GAP โดยสมัครใจ ควรกำหนดให้เป็นมาตรฐานหลักที่ทุกภาคเกษตรต้องปฏิบัติ

3. ราคากลางสินค้าเกษตร ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดราคากลางสินค้าในหลายประเภท จึงอยากพิจารณาราคากลางสินค้าเกษตรบ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

“ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทย คือ ยังหลงประเด็นกับการจัดการปัญหาที่ไม่ตรงจุด และสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ เช่น การระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรระดับประเทศ ควรให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ แต่ปัจจุบันเป็นการให้หน่วยงานอื่นที่ขาดความรู้ ข้อเท็จจริง และข้อมูลวิทยาศาสตร์มาตัดสิน”

การพัฒนาเกษตรมาตรฐาน จีเอพี ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย เป็นแนวทางปฏิบัติที่ทั่วโลกยอมรับ ควรให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูกทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัย ใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ตามสภาพแวดล้อม เกษตรกรที่ไม่ต้องการใช้สารเคมีก็มีแนวทางแนะนำด้วย