ไทยขานรับ “Blue Economy” เศรษฐกิจสีน้ำเงิน มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการเศรษฐกิจสีน้ำเงินครั้งที่ 1 นำเสนอข้อมูลและบทบาทของประเทศไทย ในการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาสู่ภาคปฏิบัติระดับนโยบายอย่างจริงจัง ขานรับแนวคิด “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” ของประชาคมโลก มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

การใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทวีความสำคัญมากขึ้น ทั้งในแง่ของการนำมาใช้โดยตรงและโดยอ้อม และเป็นวาระที่องค์การระหว่างประเทศและภาคีเครือข่ายนานาชาติ อาทิ องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก กลุ่มประเทศ OECD และพันธมิตรเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลในเอเชียตะวันออก (Partnership Management for the Seas of East Asia: PEMSEA) ต่างหยิบยกหัวข้อนี้เป็นวาระสำคัญทางนโยบาย โดยสาระสำคัญของแนวคิดว่าด้วยเศรษฐกิจสีน้ำเงินซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ คือ “การเป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาบนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน” ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงร่วมกันจัดงาน “การประชุมวิชาการเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศไทยครั้งที่ 1” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีนำเสนอข้อมูลและบทบาทของประเทศไทย ในการนำแนวคิดเศรษฐกิจ สีน้ำเงินมาสู่การปฏิบัติในระดับนโยบายอย่างจริงจัง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สกว. ในฐานะประธานเปิดงาน ให้ข้อมูลว่า งานประชุมในวันนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดพื้นที่ในการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงาน ภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือขององค์กรที่ดำเนินงานด้านทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย ซึ่งตอบรับการขับเคลื่อนตามแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน การขานรับจากนักนโยบายทั่วโลกเป็นอย่างดี องค์การระหว่างประเทศและภาคีเครือข่ายนานาชาติ ทั้งนี้ จากข้อมูลของ The Ocean Economy in 2030 โดย OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ที่ประเมินว่าในปี 2030 คาดว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ ธนาคารโลกเชื่อว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศที่เป็นชายฝั่งและเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมักเป็นประเทศรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลางค่อนมาทางต่ำ ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจบนแผ่นดิน เข้มแข็งอยู่แล้ว เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในส่วนของประเทศไทย การนำแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาสู่การปฏิบัติในระดับนโยบายอย่างจริงจังถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากไทยเป็นรัฐชายฝั่งที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เชื่อมต่อกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียซึ่งถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค อีกทั้งประเทศไทยยังมีอาณาเขตทางทะเล ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 กว่า 320,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบกที่มีอยู่ประมาณ 530,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีความยาวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันรวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลในประเทศไทยทั้งสิ้นกว่า 3,100 กิโลเมตร ครอบคลุมจำนวน 23 จังหวัด

ทั้งนี้ สกว. ได้มุ่งมั่นส่งเสริมการขับเคลื่อนการศึกษาวิจัยว่าด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยริเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดยมีโครงการวิจัยทั้งทางด้านนโยบาย เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย การบริหารจัดการข้อมูล อาทิ โครงการการวิจัยมูลค่าเศรษฐกิจของระบบนิเวศป่าชายเลน การศึกษาแนวโน้มของการพัฒนาจังหวัดชายฝั่งทะเลของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน/การพัฒนากรอบการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่เหมาะสมสำหรับบริบทประเทศไทย ฯลฯ เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินและสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยต่อไป

ด้าน ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผอ.กองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเรื่องพัฒนาการของแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่เกิดขึ้นภายในการประชุม งาน United Nations Conference on Sustainable Development ในปี ค.ศ. 2012 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล หรือที่รู้จักกันในนาม RIO+20 (ริโอพลัสเทวนตี้) ซึ่งถือเป็นเวทีประชาคมโลกเวทีแรกที่พูดถึงแนวคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยในที่ประชุมมุ่งเน้นการสร้างความสมดุลใน 2 มิติ คือ เศรษฐกิจในทองทะเล และระบบนิเวศทางทะเล โดยจะมุ่งผลักดันการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ในเวทีนี้เน้นเรื่องความสัมพันธ์ของมูลค่าและคุณค่าทางทะเลและการให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเล คือทำอย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดและอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคง ยั่งยืน รวมถึงความปลอดภัยทางทะเลด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้ไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศที่ขับเคลื่อนด้านนี้อย่างจริงจังจะมีข้อมูลเชิงวิชาการไปสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการขับเคลื่อน อาทิ ประเทศจีนให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้และมีข้อมูลด้านเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่สอดคล้องกับจีดีพีของประเทศมาตั้งแต่ปี 2001 อินโดนีเซียมีการเก็บข้อมูลด้านนี้มาตั้งแต่ปี 2004 สำหรับไทยเรายังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินส่งผลต่อจีดีพีของประเทศเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังคงเป็นจุดอ่อนของไทยที่ไม่มีข้อมูลและตัวเลขทางวิชาการไปสนับสนุนการตัดสินใจด้านนโยบายสำหรับด้านนี้

ในขณะที่ พลเรือเอกจุมพล ลุมพิกานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พื้นที่อาณาเขตทางทะเลทั้งหมดของประเทศไทยนั้น พื้นที่ไม่น้อยกว่า 170,000 ตารางกิโลเมตร ถูกจัดเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ มีการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย อาทิ การประมง การท่องเที่ยว ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ โดยจากการประเมินมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลไม่ต่ำกว่า 24 ล้านล้านบาท ปัจจุบันไทยมีแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558-2564 ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในแผนดังกล่าวประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การพัฒนาศักยภาพความมั่นคงของชาติทางทะเล 2. การคุ้มครองการใช้ประโยชน์จากทะเล 3. การสร้างความสงบเรียบร้อยและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทะเล 4. การสร้างความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ และความตระหนักรู้ความสำคัญของทะเล และ 6. การบริหารจัดการผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายที่คณะทำงานมุ่งมั่นจะทำให้ได้ตามแผนภายใน 5 ปีนี้ นอกจากนี้ สิ่งที่ไทยควรมีแนวนโยบายที่ชัดเจน คือเรื่อง ระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล ซึ่งจากปัญหาอุบัติเหตุทางทะเล อย่างเรือล่ม น้ำมันรั่ว สะท้อนให้เห็นว่าเรายังไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งจัดการกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้