เกษตรกรชัยภูมิ เลี้ยงปลานิลในบ่อดิน สร้างตลาดหลากหลาย เกิดรายได้ยั่งยืน

คุณนนท์ปวิธ ออกแดง นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดชัยภูมิ ให้ข้อมูลว่า อาชีพการทำประมงในจังหวัดชัยภูมิที่มีผู้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจัดได้ว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงขึ้นทะเบียนมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 28,000 ราย ซึ่งการเลี้ยงส่วนใหญ่เน้นเพื่อบริโภคในครัวเรือน และอีกส่วนก็ทำการเลี้ยงเป็นเชิงพาณิชย์มีทั้งการเลี้ยงในกระชังและบ่อดิน การใช้น้ำเลี้ยงของเกษตรกรจะพึ่งน้ำจากธรรมชาติคือน้ำฝนเป็นหลัก และบางส่วนมีพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำต่างๆ ก็จะสามารถเลี้ยงได้ทันที อย่างช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปัญหาภัยแล้งกำลังเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การรับมือในเรื่องของปริมาณน้ำที่ขาดแคลนจึงเฝ้าระวังแล้วประกาศเตือนเกษตรกรอยู่เสมอ

“ปัญหาแล้งช่วงนี้เป็นปัญหาสำคัญมากของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ดังนั้น เราก็จะมีการเตือนภัยและเฝ้าระวังออกประกาศให้เกษตรกรอยู่เสมอ เพื่อให้เกษตรกรได้รับมือได้มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว สำนักงานประมงจังหวัดยังได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการทำประมงให้ปลอดภัยด้วยการให้ข้อมูลการเลี้ยงที่มีมาตรฐานมากขึ้น มีการรับรองมาตรฐานต่างๆ ก็จะช่วยให้เกษตรกรเลี้ยงปลาได้อย่างมีคุณภาพ และสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด” คุณนนท์ปวิธ กล่าว

คุณเจริญชัย หวังครอบกลาง อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 1 ตำบลละหาน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่ทำประมงจนประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี

คุณเจริญชัย เล่าให้ฟังว่า กว่าจะได้มาทำเกษตรเหมือนเช่นทุกวันนี้ เริ่มแรกเดิมทีได้เข้าไปในเมืองใหญ่เพื่อไปทำงานในโรงงานต่างๆ และต่อมาได้มีโอกาสได้ไปทำงานยังต่างประเทศ โดยในช่วงนี้สามารถเก็บเงินและนำมาซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ การทำงานต่างประเทศในครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้สามารถมีแหล่งเงินทุนเป็นของตนเองมากขึ้น เมื่อเริ่มรู้สึกอิ่มตัวและคิดถึงครอบครัวจึงตัดสินใจลาออกและกลับมาอยู่บ้าน เพื่อประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร

คุณเจริญชัย หวังครอบกลาง

“พอเราเริ่มมีงาน ทุนจากงานที่ไปทำยังต่างประเทศ จากคนที่ไม่มีอะไรเลยในสมัยนั้น เราสามารถมีเงินมาสร้างบ้าน และซื้อที่ดินเป็นของตนเองได้ พร้อมทั้งซื้ออุปกรณ์สีข้าวสารมาเป็นของตัวเอง พร้อมทั้งเริ่มเรียนรู้การทำเกษตรเข้ามาเสริม ด้วยการทำนาอยู่ก่อน เมื่อผลผลิตที่ได้ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก จึงมองหาช่องทางการทำเกษตรด้านอื่นๆ โดยเห็นพ่อค้าที่อื่นนำปลาจากจังหวัดอื่นเข้ามาขายในพื้นที่ จึงคิดว่าเราน่าจะทำการเลี้ยงได้ เพราะภายในบริเวณพื้นที่เรามีน้ำเพียงพอสำหรับเลี้ยง จึงได้มาทดลองเลี้ยงอยู่ประมาณ 1 บ่อ ในปี 2550 ก็ประสบผลสำเร็จได้ผลตอบแทนดีกว่าการทำนา จึงขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน” คุณเจริญชัย เล่าถึงที่มา

การเลี้ยงปลานิลในบ่อดินให้ได้คุณภาพและได้มาตรฐานที่ตลาดต้องการนั้น คุณเจริญชัย บอกว่า จะต้องมีการเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงให้สะอาด โดยหลังจากจับปลาจำหน่ายจนหมดบ่อแล้ว จะวิดน้ำออกจากบ่อจนหมดพร้อมกับโรยปูนขาวให้ทั่วบริเวณบ่อ และทำการตากบ่อทิ้งไว้ 7-14 วัน

รำที่ใช้สำหรับลดต้นทุน

เมื่อบ่อมีสภาพที่เหมาะสมพร้อมกับการใช้เลี้ยงปลาแล้ว จากนั้นนำปลานิลอายุ 2 เดือน ที่ผ่านการอนุบาลมาเรียบร้อยแล้วมาเลี้ยงภายในบ่อที่เตรียมไว้ อัตราส่วนปลาที่ใส่เลี้ยงอยู่ที่ 5,000 ตัว ต่อบ่อขนาด 2 ไร่

ในช่วงแรกเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 25 เป็นอาหารเบอร์ขนาดกลาง และเมื่อเห็นว่าปลามีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น จึงทำการเลี้ยงเปลี่ยนเบอร์อาหารให้มีเบอร์ขนาดที่ใหญ่ขึ้น ให้ปลากินเช้าเย็น เลี้ยงไปแบบนี้ประมาณ 4-5 เดือน ปลานิลก็จะได้ไซซ์ขนาดที่พร้อมจำหน่ายได้

บ่อเลี้ยงปลานิล

“ตั้งแต่เลี้ยงปลานิลมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องโรคก็ไม่มีเข้ามาให้ปลาเกิดความเสียหาย เพราะปริมาณปลาที่เราเลี้ยงไม่ได้หนาแน่นมากเกินไป บวกกับน้ำที่ใช้เลี้ยงมีปริมาณที่เพียงพอ ก็ทำให้ค่อนข้างมีสภาพน้ำที่ดีอยู่เสมอ นอกจากนี้แล้ว อาหารที่ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงได้อย่างดี ผมก็จะใช้พวกรำที่เหลือจากการสีข้าวเข้ามาช่วย เพราะบ้านเรามีโรงสีเล็กๆ ดังนั้น จึงมีรำข้าวที่เหลือออกมา ก็จะนำมาผสมกับอาหารให้ปลากิน จึงช่วยให้ปลาโตดีและประหยัดต้นทุนการเลี้ยงให้กับเราได้อีกด้วย” คุณเจริญชัย บอก

สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายปลานิลนั้น คุณเจริญชัย บอกว่า ในช่วงแรกจะเน้นให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาจับที่หน้าบ่อเพียงอย่างเดียว แต่ระยะหลังๆ มานี้มีการปรับเปลี่ยนการทำตลาดให้มีความหลากหลาย จึงได้ทำการตลาดแบ่งเป็น 2 ช่องทาง คือ การจำหน่ายยกบ่อ และอีกช่องหนึ่งนำไปจำหน่ายยังตลาดสดเอง

จุดพักปลาก่อนนำไปจำหน่ายยังตลาด

ราคาจำหน่ายปลานิลที่จำหน่ายราคาปลีกขนาดไซซ์ 2 ตัว ต่อกิโลกรัม อยู่ที่กิโลกรัมละ 60-65 บาท ส่วนปลานิลขนาดไซซ์ 1 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 75 บาท พร้อมทั้งมีการนำปลานิลบางส่วนมาทำการแปรรูปเพื่อหมักเกลือเป็นการประหยัดเวลาอีกช่องทาง

เลี้ยงเอง ขายเอง

“ปลานิลที่เลี้ยงเวลาจับขายแบบยกบ่อ น้ำหนักปลาจะได้อยู่ประมาณ 1 ตันกว่าๆ ราคาขายแบบยกบ่อที่เขามารับซื้ออยู่ที่ 43-45 บาท ต่อกิโลกรัม ดังนั้น การเลี้ยงปลาที่ดีเราต้องมีการทำตลาดที่หลากหลาย ทำตลาดให้ทั่วถึง เราก็จะมีรายได้หลากหลายช่องทาง อย่างน้อยเงินรายวันเราได้จากปลาที่ขายสดในตลาดเอง และกำไรหรือเงินเก็บก็ได้จากปลาที่ขายยกบ่อ สำหรับผมการเลี้ยงปลานิล ถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับผมได้ดี ทำให้คุณภาพชีวิตผมดีขึ้น การเลี้ยงปลานิลไม่ใช่เรื่องยาก เพียงมีแหล่งน้ำที่ดีสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี มีอาหารที่ให้ปลากินดี และอีกส่วนหนึ่งเรื่องของการจัดการที่ดี ก็จะช่วยให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน” คุณเจริญชัย บอก

ปลานิล

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงปลานิล ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือเข้าไปศึกษาดูงานสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเจริญชัย หวังครอบกลาง ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 072-0851