กรมประมง-สวก. คืน “หอยลาย” 1 ล้านตัว สู่ทะเลตราดตามแนวพระราชดำริฯ

สถานการณ์ “หอยลาย” ขาดแคลนน่าห่วง กรมประมงจับมือ สวก. ปล่อยคืนทะเลตราด  1 ล้านตัว สนองแนวพระราชดำริ ดึงชุมชนมีส่วนร่วมอนุรักษ์เพิ่มปริมาณพ่อแม่พันธุ์ในธรรมชาติ หวังเพิ่มผลผลิตเสริมศักยภาพส่งออกตีตลาดโลก

ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้ทรงคุณวุฒิกรมประมง เปิดเผยว่า หอยลายเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากเป็นที่นิยมบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศด้วย โดยจากข้อมูลเมื่อปี 2531 ไทยมีการส่งออกหอยลายในรูปแบบบรรจุภาชนะอัดลม และเนื้อหอยมิได้บรรจุภาชนะอัดลมสูงถึง 11,396 ตัน คิดเป็นมูลค่า 710.37 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ แคนาดา อิตาลี มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น แต่ปี 2554 ส่งออกได้เพียง 2,243 ตัน มูลค่า  282.62 ล้านบาท เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันหอยลายที่นำมาใช้ประโยชน์ทั้งหมดเป็นผลผลิตที่จับจากทะเล ซึ่งนับวันการแข่งขันทำประมงหอยลายทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้แหล่งทำประมงหอยลายหลายแหล่งเสื่อมโทรมลง ขณะเดียวกันผลผลิตหอยลายในทะเลยังลดลงอย่างรวดเร็ว จากผลผลิตที่เคยจับได้ทั้งประเทศในปี 2531 ปริมาณ 115,400 ตัน ในปี 2555 จับได้ลดลงเหลือเพียง 8,700 ตันเท่านั้น  ถือว่าทรัพยากรหอยลายอยู่ในสภาวะขาดแคลนและสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

จากปัญหาดังกล่าว กรมประมงจึงเร่งศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตหอยลายภายใต้โครงการ “การเพาะเลี้ยงและการจัดการทรัพยากรหอยลาย (Paphia undulata) เพื่อเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการส่งออก” โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 6,503,125 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 – 1 พฤศจิกายน 2561 มุ่งศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงหอยลายในที่กักขังควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรหอยลายจากการปล่อยลูกพันธุ์และที่เกิดเองในแหล่งผลิตตามธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นกรณีศึกษา เพื่อเพิ่มผลผลิตและศักยภาพการส่งออก

“โครงการวิจัยนี้แบ่งการศึกษาเป็น 3 กิจกรรม คือ 1.การเพาะเลี้ยงหอยลายในที่กักขัง ครอบคลุมการขุนเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยลาย เทคนิคที่เหมาะสมในการเพาะพันธุ์  การอนุบาลลูกหอยลายในโรงเพาะฟัก และการอนุบาลและการเลี้ยงลูกหอยลายในบ่อดิน  2.สารสนเทศเชิงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการพื้นที่หอยลาย โดยจะศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของพื้นที่หอยลายในอ่าวไทยทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบันเพื่อนำไปประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นแหล่งหอยลาย และ3.การจัดการทรัพยากรหอยลายแบบชุมชนมีส่วนร่วมโดยใช้แนวทางเชิงระบบนิเวศ กรณีศึกษาจังหวัดตราด เพื่อศึกษาสภาวะทรัพยากรหอยลาย สภาพแหล่งที่อยู่อาศัย การปล่อยลูกพันธุ์เพื่อฟื้นฟูแหล่งหอยลาย เป็นต้น” ดร.วารินทร์ กล่าว

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรมประมงได้ร่วมมือกับ สวก. และจังหวัดตราด จัดกิจกรรม “คืนหอยลายสู่ทะเลตราด สนองแนวพระราชดำริ ด้านการจัดการทรัพยากรประมงเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน” โดยได้ส่งมอบลูกหอยลาย ขนาด  0.5-1 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยฯ จำนวน 1,000,000 ตัว ให้ชาวประมงนำไปปล่อยคืนสู่ทะเลตราด เพื่อฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรหอยลายโดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ ขณะเดียวกันยังได้จัดพิธีปล่อยพันธุ์กุ้งแชบ๊วย จำนวน 8,000,000 ตัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร 50 วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ด้วย

เบื้องต้นคาดว่า ลูกหอยลายและพันธุ์สัตว์น้ำที่ปล่อยไปจะเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต ช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติ จะส่งผลให้จังหวัดตราดเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์หอยลายที่สำคัญ และมีปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการ คาดว่า จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดตราดได้ค่อนข้างมาก พร้อมเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป

“หลังจากปล่อยลูกหอยลายคืนสู่ทะเลแล้ว จะมีการสำรวจติดตามประเมินสภาวะทรัพยากรหอยลายในพื้นที่ และในวันที่ 6 มกราคม 2560 กรมประมงได้มีแผนที่จะปล่อยลูกหอยลายเพิ่มอีก 300,000 ตัว เพื่อคืนความสุขให้ประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประชากรหอยลายในธรรมชาติ และส่งเสริมให้ชาวประมงมีส่วนร่วมอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรหอยลาย ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพแก่ชาวประมงด้วย” ผู้ทรงคุณวุฒิกรมประมงกล่าว