หมากผู้หมากเมีย พืชพรรณล้ำค่า แหล่งกำเนิด ใหญ่สุดอยู่ที่บางกะเจ้า

หมากผู้หมากเมีย พืชพรรณล้ำค่า ของบางกะเจ้า ณรงค์ สำลีรัตน์ ยืนหยัดผลิตมาหลายทศวรรษ

หมากผู้หมากเมีย เป็นไม้ประดับที่ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักต้นไม้ และยังสามารถปลูกเพื่อขายสร้างรายได้เป็นอาชีพเสริมไปจนถึงอาชีพหลักได้ด้วย วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้านพามาอยู่กันที่ คุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการปลูกไม้พุ่ม อย่างหมากผู้หมากเมียที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในเวลานี้ก็ว่าได้ เนื่องจากได้รับการขนานนามจากทุกหน่วยงานทั้งในประเทศและนอกประเทศว่าเป็นแหล่งที่มีหมากผู้หมากเมียมากที่สุดในเวลานี้

คุณณรงค์ สำลีรัตน์ อยู่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 6 ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะมาทำอาชีพนี้ว่า ในช่วงอดีตที่ผ่านมา อำเภอพระประแดง ได้รับรองให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม และได้มีการพัฒนาท่าเรือคลองเตยหรือท่าเรือกรุงเทพในปัจจุบัน ให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ จนทำให้มีการขุดร่องขึ้นมาในช่วงนั้น ส่งผลทำให้น้ำเค็มทะลักเข้ามาในพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านต้องมีการปรับเปลี่ยนในการทำมาหากินโดยการหันมาปลูกไม้เชิงเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกมะพร้าว กล้วย มะนาว ซึ่งก็สามารถอยู่ได้ในช่วงนั้น ต่อมาในช่วงระยะหลังก็ไม่สามารถต้านภัยธรรมชาติอย่างอุทกภัยได้ และนี่ก็เป็นต้นตอก่อนที่จะมาปลูกไม้อย่างหมากผู้หมากเมีย

คุณณรงค์ สำลีรัตน์ เจ้าของสวน

ด้วยความชอบส่วนตัว ที่ชอบต้นไม้ ชอบธรรมชาติ ตั้งแต่อายุ 7 ปี จนกระทั่งอายุ 13 ปี ก็ได้มีการนำหมากผู้หมากเมียเข้ามาปลูกในรอบบริเวณบ้าน ซึ่งในช่วงนั้นก็ได้มีการสะสมพันธุ์กันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2524-2526 ต้นไม้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จนทำให้มีการตั้งชมรมขึ้นมาซึ่งก็เป็นชมรมไม้ประดับบางกะเจ้า การตั้งชมรมขึ้นมาในช่วงนั้นก็เพื่อจัดสัมมนา การไปศึกษาดูงานต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนเกี่ยวกับต้นหมากผู้หมากเมีย และด้วยความรักก็ดูแลเลี้ยงกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน จนสามารถผันแปรให้เป็นอาชีพพร้อมทั้งสร้างรายได้อีกด้วย

“ผมเล่นต้นไม้ตั้งแต่อายุน้อยๆ 7 ปี ก็เริ่มเล่นต้นไม้แล้ว พอโตขึ้นมา อายุ 13 ปี ก็เริ่มเก็บหมากผู้หมากเมียเข้ามาปลูกบริเวณบ้าน ตอนนั้นต้นไม้อื่นๆ ก็มีปลูกอยู่บ้าง อย่างเช่น โกสน บอนสี แล้วก็ไม้ประดับอีกหลายๆ ชนิด ก็ไปสะสมพันธุ์หมากผู้หมากเมียกัน แล้วก็ด้วยความรักเลี้ยงดูกันมาเรื่อยๆ ซึ่งตอนนั้นก็ได้เอาสายพันธุ์มาจากชาวบ้าน เพราะว่าผมตอนเด็กชอบช้อนปลาเอามากัดกัน ระหว่างทางก็ได้ขอต้นหมากผู้หมากเมียจากชาวบ้าน บางคนก็ยื่นมีดมา ผมก็ตัดต้นหมากผู้หมากเมียแล้วไปปักไว้บริเวณบ้าน ริมคลอง ข้างสวน และสมัยก่อนดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยจึงไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไรในการปลูก” คุณณรงค์ เล่าถึงที่มาของการทำหมากผู้หมากเมีย

 ปลูกยากหรือไม่

โดยธรรมชาติของต้นหมากผู้หมากเมียแล้วเป็นต้นไม้ที่ปลูกไม่ยากถ้าเป็นพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ที่อยู่ต่างพื้นที่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องผสมดินต้องหาวิธีปลูกและศึกษาค้นคว้าทดลอง ต่อมาในกรณีที่มีการปลูกลงในกระถางต้นไม้ก็อาจจะต้องมีการรดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะหน้าแล้ง และยังมีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องพรางแสง

ในเรื่องของการใส่ปุ๋ยนั้นสำหรับหมากผู้หมากเมียแล้วแทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยในการปลูกเลย แต่จะใช้ใส่ดินที่ได้จากการลอกเลนในคลองแทน

คุณณรงค์ บอกว่า ในปี 2525 มีการนำพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามา เช่น พันธุ์เพชรชมพู พันธุ์เพชรไพลิน มาจากฟิลิปปินส์ และถ้าถามว่าพันธุ์พวกนี้ปลูกยากไหม ก็บอกเลยว่าปลูกได้ไม่ยากเพราะว่าประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์อยู่บนละติจูดเดียวกัน หรืออยู่ในเขตร้อนเดียวกัน แต่อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่างนั้นก็คือ ความหนาว เพราะเมื่อไรที่ได้สัมผัสกับความหนาวความสวยงามก็จะเกิดขึ้นทันที

ต้นหมากผู้หมากเมียสวยๆ

จาก 80 สายพันธุ์ สู่ 200 สายพันธุ์ในปัจจุบัน

ถึงแม้ในอดีตต้นหมากผู้หมากเมียจะมีไม่มาก แต่ในปัจจุบันนี้ก็ได้มีการรวมกลุ่มขึ้นมา ชื่อว่า “กลุ่มไม้ประดับพระประแดง” กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงหมากผู้หมากเมีย ก็ได้มีการผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเยอะขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีมากถึงกว่า 200 พันธุ์ และนอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามา บางคนไปหาซื้อพันธุ์จากต่างประเทศแล้วนำมาขยายพันธุ์ปลูกในประเทศไทย เหตุผลหนึ่งที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้น ราคาดี เพราะเป็นของที่หายาก แล้วพอนำไปขยายพันธุ์แล้วสามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ต่อไป

 เป็นแหล่งกำเนิด ที่ใหญ่สุดของประเทศ

สำหรับถิ่นกำเนิดของต้นหมากผู้หมากเมียอยู่ในพื้นที่ของบางกะเจ้า ซึ่ง 6 ตำบล ในพื้นที่ของบางกะเจ้า 12,000 ไร่นั้น เป็นแหล่งกำเนิดของหมากผู้หมากเมียของประเทศไทย และเป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นักเล่นระดับโลก ต่างก็เข้ามาศึกษามาเก็บสายพันธุ์ในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งชื่อสายพันธุ์หมากผู้หมากเมียไว้ให้กับคุณณรงค์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการผสมเอง มีชื่อว่า ณรงค์ไดมอน

 

ตลาดมีความต้องการ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ในสมัยก่อนต้นหมากผู้หมากเมียถือเป็นต้นไม้ที่ขายดิบขายดี แต่เมื่อมาถึง พ.ศ. 2540 ต่างก็รู้ดีว่าเป็นยุคที่ฟองสบู่แตก เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้คนที่ชื่นชอบหมากผู้หมากเมียต้องเลิกเล่นเลิกซื้อ วงการไม้ประดับในช่วงนั้นก็ซบเซา จนมาถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจพอตื่นตัว วงการไม้ประดับอย่างหมากผู้หมากเมียก็พออยู่ได้ สามารถทำรายได้ถึงหลักแสนต่อปี

ตอนกิ่ง

“มันก็ต้องมีการปรับตัวอยู่แล้ว ก็ต้องมีการหาตลาดให้มันมากขึ้น แล้วก็จำหน่ายด้วยราคาที่เหมาะกับกำลังซื้อของคนที่มาซื้อ นอกจากนี้ ยังต้องมีการเข้าร่วมการประกวดต่างๆ เช่น การออกงานอีเว้นต์ นอกจากนี้ ยังต้องพึ่งหวังการหาพันธุ์ไม้ที่แปลกมาวางจำหน่ายเพื่อหมากผู้หมากเมียกลับมาเป็นที่รู้จักกันอีกครั้ง” คุณณรงค์ บอก

สำหรับท่านใดที่ชื่นชอบและรักในการปลูกต้นหมากผู้หมากเมียก็สามารถเข้ามาศึกษา หรือหาข้อมูลที่กลุ่มไม้ประดับพระประแดง ซึ่งจะมีนักปลูกเลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สวนของ คุณณรงค์ เป็นที่รวบรวมต้นหมากผู้หมากเมียเกือบทุกสายพันธุ์ที่มีในประเทศไทยและที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งพันธุ์เก่าและพันธุ์ใหม่มีมากกว่า 200 พันธุ์ ให้ท่านมาเลือกมาชมมาซื้อไปปลูกเลี้ยงได้เลย

สนใจศึกษาดูงานและปรึกษาเรื่องการปลูกหมากผู้หมากเมีย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณณรงค์ สำลีรัตน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-344-5977

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562