ผู้เขียน | แพรจารุ ไชยวงษ์แก้ว |
---|---|
เผยแพร่ |
เดือนก่อน เดินทางไปบ้านใต้ที่นครศรีธรรมราช เขาจัดงานเทศกาลฤดูฝน อ่านบทกวี เล่นดนตรี กินอาหารอร่อยๆ ที่ปริทรรศน์อาร์ตคลับ เป็นหอศิลป์แห่งใหม่ของเมือง หอศิลป์ส่วนตัวของอาจารย์นักเขียน
วันนั้นได้คุยกับนักวิชาการด้านอาหาร เธอบอกว่า เธอทำอาหารไม่เป็น แต่สนใจเรื่องอาหาร ถึงขั้นทำงานวิจัย เธอตั้งข้อสังเกตว่า อาหารสู่ครัวโลกนั้น เราเอาไปแต่อาหารในจาน เราไม่ได้เอาเรื่องราวหรือรากเหง้าวัฒนธรรมไปด้วย และเมื่อไปถึงที่หนึ่งที่ใดแล้ว มันก็ถูกเปลี่ยนไป จนแทบจะไม่เหลืออะไรเลย…
เป็นเรื่องน่าสนใจ มีคำถามว่า นี่เป็นเรื่องพอเพียงแล้ว ควรจะยินดีแค่นี้ หรือต้องทำอะไรมากกว่านี้ แต่เราจะทำอย่างไร นอกจากเขียนไว้ในเมนู เล็กๆ น้อยๆ หรือทำรูปเอาไว้ เช่น เมื่อเสิร์ฟน้ำพริก ที่จานจะมีรูปครก เพื่อให้รู้ว่าก่อนที่จะมาเป็นน้ำพริกใช้เครื่องปั่นบดเขาใช้ครกมาก่อน อย่างนี้เป็นต้น หรือยืนยันการทำอาหารแบบเดิมๆ เอาไว้ ไม่ให้ถูกดัดแปลงมากนัก
ฉันคนชอบทำอาหารและชอบเขียนเรื่องอาหารการกิน ฟังเรื่องราวแบบนี้รู้สึกดีเหมือนกัน หน้าที่คนละอย่างกันแต่เมื่อเอามาชนกันก็ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ต่อไปเมื่อเขียนเรื่องอาหารฉันจะเล่าเรื่องราวรากเหง้าที่มาลงไปด้วย
อย่างเช่นตอนนี้ฉันกำลังจะเขียนเรื่อง กวนข้าวเหนียวแก้ว (หรือเหนียวกวน)
ภาคใต้มีคำพูดหนึ่งคือ “ได้กินเหนียว”
“ลูกสาวบ้านนั้น เมื่อไหร่ได้กินเหนียว”
หมายความว่า เมื่อไหร่จะได้แต่งงาน งานแต่งงาน งานบุญ งานบวช จะมีการกวนเหนียวกัน
วันนี้จะเล่าเรื่องเหนียวแก้ว หรือเหนียวกวน
เริ่มจากน้องสาวนางหนึ่ง เธอเป็นคนใต้ นครศรีธรรมราช เป็นนักอ่าน เธอเดินทางมาที่ห้องสมุดกระท่อมทุ่งเสี้ยวถนอมแพร ที่สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนจะไปถึงเหนียวแก้ว แนะนำห้องสมุดนิดหนึ่งนะคะ ที่นี่มีห้องสมุดเล็กๆ ที่เปิดให้ผู้คนที่สนใจเข้ามาอ่าน เขียน และยืมหนังสือได้ เปิด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ส่วนวันอื่นๆ นั้นต้องบอกล่วงหน้า หรือหน่วยงานที่จะมาใช้ นำเด็กมาอ่าน เขียน ที่ห้องสมุดก็ต้องจองมาล่วงหน้า ถ้าไม่ใช่ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ก็เปิดให้ได้ ที่ห้องสมุดก็จะมีทีมนักเขียนที่สามารถออกไปทำกิจกรรมอ่าน เขียน ให้กับโรงเรียนที่สนใจด้วย เรียกว่ากิจกรรมสุนทรีย์เสวนาเพื่อการเขียน
กลับมาต่อที่น้องคนหนึ่งมาห้องสมุด เธอชื่อ เกษร กาญจนวงศ์ เธอเป็นนักอ่าน และเธอมีความตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือด้วย นอกจากนั้นพบว่า เธอมีความสามารถอื่นๆ หลายด้าน เช่น เธอเป็นนักนวดจับเส้นรักษาอาการปวดเมื่อย เพื่อนนักเขียนของเรามานวดกันหลายคน และเธอทำอาหารอร่อย จึงชวนเธออยู่ต่อให้ถึงช่วงวาระงานบุญประจำปีของห้องสมุดกระท่อมทุ่งเสี้ยว คือวันครบรอบการจากไปของเจ้าของกระท่อมทุ่งเสี้ยว ซึ่งตอนนี้กระท่อมของเขาเป็นห้องสมุดไปแล้ว
แล้วเธอก็ทำข้าวเหนียวแก้วในงานบุญประจำปีของห้องสมุด ในวันที่ 20 สิงหาคม 2559
การทำเหนียวแก้วที่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็กและไม่ยาก จึงนำมาบอกต่อเผื่อใครอยากจะทำกินหรือทำขายต่อไป
ข้าวเหนียวแก้วของเกษร เป็นสูตรจากบรรพบุรุษเลยทีเดียว และตอนนี้พี่สาวของเธอทำขายอยู่ วันนี้เธอจะทำเหนียวแก้วใบเตย เพิ่มความเขียว สวย และหอม
เธอบอกว่า เริ่มที่ข้าวเหนียว ต้องใช้ข้าวเหนียวอย่างดี เม็ดต้องไม่หัก
เมื่อได้ข้าวเหนียวมาแล้ว อันดับต่อไปต้องล้างให้สะอาดให้เบามือที่สุด และแช่ข้าวเหนียวไว้ 4 ชั่วโมง จากนั้นเอามานึ่งแบบรองผ้าขาวบาง 20 นาที (ทุกอย่างต้องตรงเวลา)
ในระหว่างนั้นก็เตรียมกะทิ 1 กิโล เกลือ 1 ช้อนชา น้ำใบเตย น้ำปูนใส เอาน้ำกะทิ น้ำใบเตย และน้ำปูนใสผสมกัน
ผ่านไป 20 นาที ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกดีแล้ว ก็เอาข้าวเหนียวมาหมักกับน้ำกะทิใบเตยที่เตรียมไว้ หมัก 15 นาที จากนั้นก็เอาไปใส่กระทะและค่อยๆ กวนด้วยไม้พาย อย่าใช้ช้อน เดี๋ยวข้าวเหนียวเม็ดหัก ไม่สวย กวนไปเรื่อยๆ ในขณะกวนก็ค่อยๆ เติมน้ำตาลลงไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลหมด และกวนต่อไปอีกนิดหนึ่งจนเหนียวดีแล้ว เม็ดข้าวเหนียวลื่นขึ้นเงามันนั่นแหละ เป็นอันว่าเอามาเทใส่ถาดตัดเป็นชิ้นๆ
อัตราส่วน
น้ำตาล 1 กิโลกรัม มะพร้าวขูด 1 กิโลกรัม คั้นหัวกะทิเติมเกลือ 1 ช้อนชา (หรือจะไปซื้อน้ำกะทิก็พออนุโลมได้)
ไม่หวงสูตรและวิธีทำ จะทำกินในงานบุญ งานปาร์ตี้ หรือทำขายก็ตามสะดวก ในงานบุญห้องสมุดกระท่อมทุ่งเสี้ยว เกสรได้ตัดข้าวเหนียวเป็นชิ้นๆ ใส่ถุงเล็กๆ สำหรับเป็นของแจกเอาไปกินที่บ้านด้วย
และหลังจากผ่านงานบุญไปก็มีผู้สนใจอยากเรียนการทำข้าวเหนียวแก้วกับเกษรด้วย เธอเลยเปิดฝึกการทำข้าวเหนียวแก้ว
ข้าวเหนียวแก้ว อาหารของงานบุญ กินอร่อย พัฒนาเป็นของกิน อาหารยามเช้ากับกาแฟดำ หรือเป็นของฝากสำหรับคนไกลก็ได้ เพราะข้าวเหนียวแก้วเก็บไว้กินได้หลายวัน