ลูกชก ของดีเมืองพังงา หากินยาก ราคากิโลละ 120 บาท ลักษณะคล้ายลูกชิด

ในบรรดาเมล็ดพืชสกุลปาล์มที่ชาวบ้านนำมาเป็นอาหารหวานในบ้านเรามีมากมายหลายชนิดตามภูมิภาคของแต่ละท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ ลูกจาก ได้จากผลต้นปาล์มชนิด Nypa fruticans Wurmb ผลเป็นทะลายกลม ใบอ่อนที่ยังไม่คลี่นำมาทำเป็นใบจากสำหรับมวนยาสูบ ปัจจุบันมีจำหน่ายน้อยลงเพราะนิยมห่อมวนยาเส้นด้วยกระดาษซึ่งง่ายและราคาถูกกว่า นอกจากนี้ ขนมจากก็ยังเป็นขนมไทยๆ ที่ปัจจุบันหากินค่อนข้างยากเช่นกัน ต้นจากชอบขึ้นตามบริเวณชายน้ำกร่อยจะมีมากทางภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย

ส่วนภาคอีสานจะมีลูกไม้ชนิดนี้ให้กินกันในชื่อของ ลูกลาน ซึ่งได้มาจาก ต้นลาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Corypha umbraculifera L.) เป็นต้นไม้ในสกุลปาล์มเช่นกัน ต้นค่อนข้างมีขนาดใหญ่กว่า นอกจากผลที่กินได้แล้วในสมัยก่อนที่ยังไม่มีกระดาษ คัมภีร์ทางพุทธศาสนานิยมใช้ใบลานมาจารเป็นตัวอักษรบาลี ซึ่งใช้เหล็กปลายแหลมเผาไฟมาเขียนลงในใบลาน เราเรียกว่า จาร และยังนิยมนำใบแก่มาทำหมวก งอบ ชะลอม ภาชนะเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ

ลูกชิด ได้มาจากต้นตาวหรือต๋าว เป็นปาล์มชนิด Arenga westerhoutti Griff. ในวงศ์ Palmae มักพบอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง แถบจังหวัดเลย อุตรดิตถ์ น่าน มีลำต้นตรงดิ่งขนาดใหญ่เหมือนต้นตาล สูงได้เกือบ 10 เมตร สมัยก่อนนิยมนำมามุงหลังคา เหลาก้านทำไม้กวาด และนำยอดอ่อนมาปรุงอาหารเหมือนยอดมะพร้าวที่นิยมกินกันในปัจจุบัน

ส่วนทางภาคใต้พืชสกุลนี้นอกจากมีลูกจากแล้ว ยังมี ลูกชก ซึ่งเป็นพืชสกุลปาล์ม คนละอย่างกับต๋าวหรือตาว…ข้อแตกต่างระหว่างต๋าวกับชกคือใบต๋าวมีใบย่อยเรียงกันเป็นระเบียบในระนาบเดียวกัน แต่ใบชกมีใบย่อยเรียงตัวหลายระดับ ผลก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ชก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arenga pinnata Werr.

ต๋าวหรือตาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arenga westerhoutti Griff.

ต้นลูกชก มีลักษณะคล้ายต้นปาล์ม ชอบขึ้นตามแนวพื้นราบข้างภูเขาหิน มีลำต้นตรง โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 20-25 เมตร ใบยาวประมาณ 2-3 เมตร คล้ายใบมะพร้าวใบปาล์ม ดอกเป็นดอกช่อ จะออกบริเวณส่วนบนใกล้ยอดของลำต้น ช่อหนึ่งๆ มีผลประมาณ 100 ผล ผลของลูกชกคล้ายลูกตาลขนาดจิ๋ว ภายในผลมี 1-4 เมล็ด แล้วแต่ความสมบูรณ์ของต้น พบมากในบริเวณใกล้เขาฝั่งทะเลอันดามัน ต้นชกจะออกผลปีละ 1 ครั้ง และแต่ละต้นจะมีผลได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ต้นที่ออกผลแล้วจะไม่ออกผลอีกและจะค่อยเหี่ยวลงและตายภายใน 4-5 ปี ชาวบ้านมักกล่าวเป็นอุทาหรณ์ว่า ต้นลูกฆ่าแม่ ต้นที่เจริญพันธุ์ที่จะออกผลได้จะใช้เวลา 25 ปี

ต้นชก

ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา

คุณประภาส สมประกอบ ชาวบ้าน หมู่บ้านบางเตยใน ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ประกอบอาชีพทำลูกชกขาย เล่าให้ฟังว่า “ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึงเดือนธันวาคมของทุกปี จะเป็นช่วงการหาลูกชกมาต้มขาย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย สำหรับชาวบ้านในแถบนี้ซึ่งมีต้นลูกชกมากมายขึ้นตามริมๆ เขาใกล้บ้านที่อาศัยอยู่ ปัจจุบันมีชาวบ้านในตำบลบางเตยทำมาหากินด้วยอาชีพนี้อยู่ประมาณ 10 ราย”

ในช่วงเดือนดังกล่าวชาวบ้านจะไปขึ้นลูกชกโดยการให้คนปีนขึ้นเหมือนปีนมะพร้าวซึ่งจะนำเชือกขึ้นไปด้วย เมื่อขึ้นไปบนต้นแล้วจะสำรวจดูว่าทะลายไหนกำลังแก่พอดีที่จะทำลูกชกได้ ก็จะตัดและผูกเชือกห้อยลงมาให้ด้านล่าง ลูกชกแต่ละทะลายจะมีหลายช่อ ตั้งแต่ 10-30 ช่อ น้ำหนักค่อนข้างมากนี้คนปีนจะต้องมีความแข็งแรงมาก ช่อที่เป็นสายของลูกชกในทะลายชาวบ้านแถบนี้เรียกว่า นิ้ว แต่ละนิ้วหรือช่อจะมีความยาว 2-3 เมตร ซึ่งจะมีผลอยู่ถึงร้อยกว่าผลทีเดียว ปัจจุบันนอกจากคนทำลูกชกจะขึ้นเองแล้ว ยังมีชาวบ้านหลายคนหาลูกชกดิบมาขายให้โดยคิดเป็นทะลาย เฉลี่ยอยู่ประมาณทะลายละ 400 บาท ซึ่งคนหาจะไปหาและปีนแล้วตัดลงมาพร้อมเสร็จ คนซื้อต้องเอารถไปรอใต้ต้นแล้วจนเอากลับมาเอง

หลังจากได้ลูกชกมา ชาวบ้านก็จะนำมาเลื่อยเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร เพื่อให้ใส่กระทะขนาดใหญ่ได้พอดี ลูกชกดิบจะทิ้งไว้ได้ประมาณ 7 วัน ถ้าเกินกว่านี้จะเริ่มเหี่ยวแกะเนื้อค่อนข้างยาก เมื่อได้จำนวนพอแล้วก็จะติดไฟเอาน้ำใส่กระทะแล้วเรียงด้วยท่อนลูกชกที่เลื่อยแล้วให้เต็ม ครอบด้วยถุงพลาสติกใส แล้วครอบด้วยผ้าห่มให้รอบอีกที ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จะทดลองปลิดผลลูกชกจากช่อดูถ้าหลุดง่ายแสดงว่าสุกพอดีแล้วจะนำออกมากกองไว้ให้เย็น หลังจากนั้น ก็จะเติมน้ำต้มลูกชกดิบต่อไปอีก วันหนึ่งๆ ที่บ้านลุงประกอบ ทำได้ 4-5 กระทะ

คุณอรอุมา

เมื่อลูกชกเย็นลงก็จะปลิดให้หลุดจากขั้วมาใส่ตะกร้าไว้ ส่วนก้านช่อก็จะนำไปเรียงตากแดดไว้ให้แห้งเพื่อใช้เป็นฟืนในการต้มลูกชกครั้งต่อไป หลังจากนั้น จึงนำลูกชกมาตัดด้านหัวออกให้พอเหมาะเพราะถ้าตัดมากไปก็จะเสียเนื้อลูกชก ถ้าตัดน้อยไปก็จะทำให้แคะออกยาก ลูกชกส่วนใหญ่จะมี 3 เมล็ด เมื่อตัดได้ทีแล้วก็จะเอาช้อนสั้นโดยใช้ด้านหางช้อนแคะออกซึ่งทำไม่ยากแต่ใช้เวลามากเนื่องจากต้องทำกับมือทีละเมล็ด ซึ่ง คุณอรอุมา สมประกอบ ลูกสาว คุณลุงประภาส บอกว่า การต้ม 4-5 กระทะ ถ้าใช้คนตัดและแคะ 2 คน ต้องใช้เวลาทำถึง 2 วัน จึงจะหมด

หั่นหัวออก

หลังจากแคะแล้วก็นำมาล้างน้ำหลายๆ ครั้ง โดยใช้มือลงไปคนจับดูว่าเมือกลื่นๆ ที่อยู่บนผิวลูกชกหมดหรือยัง ถ้ายังไม่หมดต้องล้างอีกจนหมด แล้วจะแช่น้ำไว้ ต้องเปลี่ยนน้ำทุกเช้าและเย็น มิฉะนั้นลูกชกจะเสีย หรือนำลูกชกใส่ถุงแล้วใส่น้ำไว้ด้วยพอท่วมแช่ตู้เย็นหรือแช่ในน้ำแข็งจะเก็บไว้ได้หลายวัน สำหรับลูกชกที่ซื้อมาจากที่นี่แนะนำให้ใส่ตู้เย็นได้ไม่เกิน 3 วัน ต้องเปลี่ยนน้ำทิ้งอยู่เสมอ แต่ถ้าจะทำกินให้ล้างน้ำทิ้งหลายรอบแล้วต้มให้เดือดอีกครั้ง เมื่อเทน้ำทิ้งแล้วจึงต้มอีกครั้งคราวนี้ให้ใส่น้ำตาลได้ตามใจชอบแต่จะให้หอมอีกหน่อยก็ใส่ใบเตยไปให้มีกลิ่น ราคาลูกชกที่ทำเสร็จแล้วขายอยู่ในราคากิโลกรัมละ 120 บาท

มี 3 เมล็ด
ใช้โคนช้อนเขี่ยออก

คุณอรอุมา หรือ ใหม่ บอกว่า ในปีหนึ่งๆ ครอบครัวจะผลิตลูกชกได้ประมาณ 1 ตัน รวมๆ กันแล้วทั้งตำบลผลผลิตน่าจะอยู่ที่ปีละแค่ 10 กว่าตัน เนื่องจากวัตถุดิบค่อนข้างหายากต้องข้ามไปหาถึงอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ก็มี ส่วนต้นลูกชกถึงจะใช้เวลา 25 ปีจึงจะมีลูกก็จริง แต่ชาวบ้านที่มีต้นลูกชกขึ้นในที่ดินติดเขาของตัวเองก็จะอนุรักษ์ไว้เนื่องจากลูกชกที่แก่แล้วหล่นลงบนพื้นก็จะขึ้นมาเป็นต้นเอง ขออย่าไปตัดต้นลูกชกทิ้ง ลูกชกก็จะมีให้กินตลอดเวลา ซึ่งพื้นที่ราบข้างเขาไม่เหมาะกับการปลูกพืชอย่างอื่นอยู่แล้วนอกจากลูกชก เนื่องจากค่อนข้างครึ้มไม่ค่อยมีแดดส่องถึง ลูกชกอาจจะดูน้อยลงเพราะคนบริโภคมีจำนวนมากขึ้นมากกว่า

แช่น้ำไว้
ลูกชกที่ต้มแล้ว

อาหารท้องถิ่นปัจจุบันมีให้บริโภคน้อยลงเนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่เห็นความสำคัญ แต่ยังมีคนอีกรุ่นหนึ่งโหยหาอดีต ต้องการอนุรักษ์ไว้เพราะความคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเด็ก วัฒนธรรมอาหารของแต่ละท้องถิ่นเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา แสดงถึงธรรมชาติของพืชพรรณและสัตว์ป่าที่แตกต่างกันของแต่ละถิ่น

เนื่องจากลูกชกเป็นเหมือนอาหารสดการเก็บรักษาค่อนข้างลำบาก จำเป็นต้องรีบจำหน่ายทำให้ถูกกดราคา คุณใหม่จึงอยากขอวอนให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ด้านนี้หรือแหล่งความรู้ของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นมาช่วยแก้ปัญหานี้ ในการถนอมอาหารให้ยืนยาวกว่าการนำไปบริโภคสด ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม สนใจเรื่องลูกชกหรือต้องการช่วยเหลือในการแปรรูปติดต่อได้ที่ คุณใหม่ เบอร์โทรศัพท์ (093) 7274675