ของใช้ชาวบ้าน : หัวรัดซิ่น ตัวช่วยสาวสมัยใหม่

เครื่องมือของใช้สำหรับการแต่งตัว ผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายแน่นอน

สมัยเก่าก่อนผู้หญิงใช้เข็มขัด ทั้งเข็มขัดเงิน เข็มขัดนาก คนรวยๆ อาจจะมีเข็มขัดทอง สำหรับเราชาวบ้าน แค่มีเข็มขัดเงินก็หรูแล้ว การใช้เข็มขัดของผู้หญิงนั้น มักใช้คาดเวลาไปทำบุญ หรือออกไปไหนมาไหน ถ้าอยู่บ้านไม่ค่อยจำเป็นนัก เพราะสุภาพสตรีมีความสามารถในการนุ่งผ้าถุงเป็นอย่างดี อย่างไรก็ไม่หลุดง่ายๆ

ยกเว้นเผอเรอจริงๆ

สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็ก ราว พ.ศ. 2520 จำได้ว่ามีโจรออกอาละวาดปล้นเข็มขัดเงินแถวๆ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และเขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โจรเลือกปล้นผู้หญิงที่กลับจากไปทำบุญที่วัด เรื่องที่ขำไม่ออกก็คือ ปล้นไปแล้วเมื่อเห็นว่าเป็นเข็มขัดเงินปลอม มันหันรถมาแล้วใช้เข็มขัดฟาดผู้หญิงเคราะห์ร้าย ข้อหาใส่ของปลอมด้วย กลายเป็นเรื่องเล่าขานกันไม่รู้จบ

สาวๆ ในปัจจุบัน อาจไม่เชี่ยวชาญกับการนุ่งซิ่นด้วยใช้ชายผ้ารัด เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สาวๆ หันไปนุ่งกระโปรงหรือไม่ก็กางเกงกัน ส่วนผ้านุ่ง ผ้าซิ่น นานๆ ถึงจะได้หันมานุ่งสักครั้ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องมีตัวช่วย

สาวไทยไม่เหมือนสาวในประเทศลาว พวกเธอต้องนุ่งผ้าซิ่นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การไปติดต่อราชการ ถ้าสาวคนไหน สุภาพสตรีคนใดไม่นุ่งผ้าซิ่นไป ว่ากันว่าจะไม่ได้รับการบริการเลยทีเดียว ส่วนเด็กๆ และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ในประเทศลาวถือเป็นข้อบังคับเลย ว่าต้องนุ่งซิ่นไปเรียน

การนุ่งซิ่น เราชาวบ้านมีเครื่องมือช่วยไม่ให้ผ้าหลุด นั่นคือ หัวรัดซิ่น ลักษณะเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยม แต่มุมโค้งมน มีรูอยู่ 2 รู เท่าๆ กัน วัสดุที่ใช้ทำอาจเป็นกะลามะพร้าวขัดมันวาววาม หรืออาจจะเป็นเงิน หรือวัสดุเบาบางอื่นๆ ก็ได้

การทำหัวรัดซิ่น ปัจจุบันทำกันเป็นอุตสาหกรรมเลยทีเดียว อย่างหมู่บ้านท่าสว่าง ตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ นอกจากเป็นหมู่บ้านทอผ้า ขายผ้าไหม ผ้าซิ่นแล้ว ยังทำและขายหัวรัดซิ่นด้วย อันหนึ่งราคาไม่ถึง 100 บาท

เมื่อซื้อผ้าซิ่นแล้วก็ซื้อหัวรัดซิ่นไปด้วย ไม่ต้องไปหาที่อื่น

การใช้หัวรัดซิ่น สตรีไทยเชื้อสายแขมร์สาธิตให้ดู เธอจับชายผ้าสองอันรวบเข้าหากัน เอาชายผ้าด้านหนึ่งใส่เข้าไปในรูหัวรัดซิ่น แล้วก็เอาชายผ้าอีกด้านหนึ่งใส่เข้าไปอีกในรูหัวรัดซิ่นตรงกันข้าม ดึงชายผ้าทั้งสองให้ตึง แล้วสอดเข้าหัวซิ่นสลับด้านกันอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นก็จัดผ้าให้เข้าที่เข้าทาง

เธอทำให้ดูอย่างแคล่วคล่อง ว่องไว อาจเป็นไปได้ว่า ในแต่ละวันเธอต้องสาธิตให้ดูวันละหลายๆ ครั้ง คนที่เข้ามาซื้อผ้าไม่ใช่แค่คนไทยในจังหวัดต่างๆ แต่ยังมีชาวลาว และชาวแขมร์จากประเทศกัมพูชามาด้วย

“คนเขมรฝั่งโน้นพูดเร็ว บางคำเราก็ฟังเขาไม่รู้เรื่อง” เจ้าของร้านชาวไทยเชื้อสายแขมร์บอก

ทำให้ผู้เขียนนึกเอาเองว่า คงเหมือนชาวไทยที่อยู่คนละภาค แม้จะใช้คำในภาษาเดียวกัน แต่สำเนียงไม่เหมือนกัน เมื่อมาเจอกันก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกันก่อน เรียนรู้กันก่อน ถึงจะพูดจากันรู้เรื่อง

เธอบอกว่าหลังใช้หัวรัดซิ่นแล้ว คนชำนาญหรือไม่ชำนาญก็ตาม สามารถจัดชายผ้าที่เหลือเป็นโบสวยๆ ได้ จะจัดเป็นดอกไม้ หรือรูปอะไรก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ ผ้าซิ่นที่นุ่งไปถ้าไม่คลายหัวรัดซิ่นออก รับประกันว่าไม่หลุดแน่ๆ

รัดผ้าซิ่นแน่นแล้ว คราวนี้อยู่ที่การจัดให้ผ้าเข้าที่เข้าทาง ไม่จำเป็นต้องเอาหัวซิ่นไว้ด้านหน้าอย่างเดียว อาจเอาไว้ข้างๆ จะเป็นข้างซ้ายหรือขวาก็ได้ ตามถนัด พิจารณาดูก็งามไปคนละแบบ

คนไทยเราสมัยเก่าก่อน นุ่งผ้าถุง ทั้งผ้าถุงที่เป็นลายไทย ดังปรากฏอยู่ตามภาคต่างๆ ผ้าไหมและผ้าซิ่น ในความรู้สึกของคนทั่วไป เมื่อได้ยิน คำว่า ผ้าซิ่น ดูเหมือนจะนึกไปถึงคนไทยเชื้อสายลาว ไม่ว่าจะเป็นลาวพวน ลาวเวียง หรืออื่นๆ

เอาเข้าจริงก็ต้องยอมรับว่า คนไทยที่อพยพมาจากลาว หรือมาด้วยเงื่อนไขอันใดก็ตาม มักมีลายผ้าซิ่นประจำกลุ่มของตนเอง คนที่เรียนรู้เรื่องผ้า เมื่อเห็นคนไทยเชื้อสายลาวกลุ่มใดก็ตามนุ่งผ้าซิ่น สามารถบอกได้เลยว่า ถิ่นดั้งเดิมอยู่ที่ไหน เพราะลายผ้าแต่ละกลุ่มชนมีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

แน่นอนเหลือเกินว่าของใช้ทุกสิ่ง และลายผ้าทุกลายล้วนมีที่มา การเรียนรู้ความเป็นมาของสิ่งของและลายผ้า แท้จริงก็คือเรียนรู้รากเหง้าของผู้คนนั่นเอง