Thai – PAN : ผลตรวจผัก ปี 2560 มหันตภัยและทางออก

เมื่อพูดกันถึงเรื่องผักปลอดสารพิษ ผมก็นึกถึงเรื่องเมื่อเกือบสิบปีก่อน ที่ผมเคยไปนอนค้างบ้านอา  น้องชายของพ่อ ที่จังหวัดภูเก็ต มาหนึ่งคืน

บ้านอาผู้ชายอยู่บนเนินเขานอกเมือง อากาศดีมากครับ มีเนื้อที่หลายไร่ อาผู้หญิงปลูกต้นไม้ไว้เต็มพื้นที่ไปหมด พอรุ่งเช้า ผมเห็นอาผู้หญิงไปเก็บยอดผักสารพัดชนิดจากในไร่มาคัดแยก เตรียมส่งฝากแม่ค้าขายในตลาดสด มีทั้งใบเหมียง ยอดหมุยอวบๆ งามๆ ชนิดที่ถ้าผมไปเห็นโดยบังเอิญที่ตลาด ผมต้องคิดว่าเป็น “ผักฉีดยา” แน่ๆ แต่ในความเป็นจริงก็คือไร่เนินเขาแห่งนั้นไม่เคยใช้ยาฉีดพ่นใดๆ เลย

มันทำให้ผมนึกถึงความสำคัญของการพูดคุยถามไถ่แม่ค้า พ่อค้า ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่เห็นอยู่ต่อหน้า เพราะหากว่าความไว้วางใจ ความเชื่อถือ และความจริงใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อสถาปนาขึ้นได้ที่ไหน เมื่อใด โอกาสที่จะได้สานต่อเครือข่ายผักปลอดภัยก็นับว่าเริ่มต้นนับหนึ่งขึ้นแล้ว ณ ที่นั้น

ผมคิดว่าเรายิ่งต้องคิดถึงเรื่องประเด็นนี้ ในฐานะทางเลือกของผู้บริโภคมากขึ้นอีก หลังจากมีรายงานการตรวจพบสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ ปี 2560 โดยเครือข่าย Thai – PAN ที่ได้สรุปรายงานมาให้เห็นคร่าวๆ ในคราวก่อนนะครับ ว่าได้พบสารพิษปนเปื้อนในผักตลาดสูงเกินมาตรฐานถึง 64% ในผักพื้นบ้านยอดนิยม 43% และในผลไม้ 33% ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง คือถั่วฝักยาว คะน้า กะเพรา ใบบัวบก พริกแดง องุ่น และแก้วมังกร

…..

ความน่ากลัวของข้อมูลในปี 2560 นี้ก็คือ พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 76 ชนิด และยังมีสารพิษต้องห้าม (ซึ่งตามหลัก “จะต้องไม่พบ”) ถึง 2 ชนิด ใน 10 ตัวอย่าง ที่สุ่มตรวจทีเดียว โดยเฉพาะการพบคาร์โบฟูแรนถึง 8 ตัวอย่าง นั้น นับว่าเป็นอัตราเสี่ยงที่ค่อนข้างอันตรายมาก

ส่วนสารไซเปอร์เมตริน พบกระจายอยู่ในหลายตัวอย่าง ดังนั้น เมื่อมีคำถามในช่วงท้ายของการแถลงผลตรวจ ที่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ประสานงาน Thai – PAN จึงตอบได้ทันทีว่า ความเชื่อเก่าที่ว่า การกินผักให้หลากหลายเพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษนั้น แน่ชัดว่าไม่ใช่ทางออกที่ปลอดภัยเสียแล้ว คือถึงจะกินหลากหลายยังไงก็เลี่ยงไม่พ้นอยู่ดี

“ที่สำคัญคือพบสารพิษถึง 17 ชนิด ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นสารประเภทที่พืชดูดซึมเข้าไป เพราะฉะนั้นการล้างผักจึงแทบไม่ช่วยอะไรเรื่องนี้เลย” กิ่งกร กล่าวสรุป

ดังนั้น นอกจากผู้บริโภคจะตระหนักในข้อมูลว่า ควรเน้นกินผัก ผลไม้ ซึ่งไม่พบสารตกค้าง อันได้แก่ กะหล่ำปลี กระชาย สายบัว ใบเหลียง ผักหวานป่า สับปะรด มะพร้าวน้ำหอม แล้ว ยังจะต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเลือกซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับสารพิษตกค้างให้มากที่สุด นั่นก็คือพยายามเลือกซื้อเลือกกินสิ่งที่ “รู้ที่มาที่ไป” อย่างเช่นที่ผมยกตัวอย่างผักปลูกจากไร่อาผู้หญิงของผมที่ภูเก็ตนั่นแหละครับ

เวลาซื้อผัก เดี๋ยวนี้ผมก็อดไม่ได้ที่จะลองถามว่า ผักบุ้งหน้าตาบ้านๆ ผักกาดขาวท่าทางแกร็นๆ กำนี้ กองนี้ มาจากไหน ยิ่งถ้าเป็นร้านผักเล็กๆ บางครั้งเราอาจทึ่งว่า เขาปลูกของเขาเอง ลองคุยกันไปเรื่อยๆ เถิดครับ สักพักก็จะพอรู้เลาๆ ว่า ไปตลาดคราวหน้า จะซื้อผักอะไรจากร้านไหนดี

และเรื่องสำคัญ ซึ่งคนมักไม่ตระหนัก เนื่องจากเราต่างเติบโตขึ้นมาในช่วงที่การปลูกผักแปลงขนาดใหญ่แพร่หลายแล้ว ก็คือ “ฤดูกาล” ของผักแต่ละชนิดนั้นมีความต่างกัน

แต่ก่อน พืชผักมีฤดูกาล คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะรู้ว่าหน้านี้มีผักชนิดนี้ให้กิน พอหมดหน้า ก็จะมีอีกชนิดแตกดอกออกใบให้กินทดแทนไปตามแต่ละช่วงของปี ต่างจากปัจจุบัน ซึ่งผักแทบทุกชนิดมีให้กินตลอดทั้งปี จากการแก้ไขปัญหาด้วยเทคนิคเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่พึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชใน

กฤช เหลือลมัย

ปริมาณมาก

อย่างไรก็ดี ฤดูกาลของพืชผักแต่ละชนิดยังเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อยู่นะครับ การที่ผักชนิดหนึ่งๆ ถูกบังคับให้เติบโตและให้ผลผลิตนอกช่วงชีวิตของมัน (หรือบางกรณีคือนอกภูมิประเทศที่มันคุ้นเคย) ผลก็คือความอ่อนแอต่อโรคพืช ซึ่งก็ทำให้ต้อง “อัด” ทั้งปุ๋ยและยา ฉีดหนักขึ้น เพื่อพยุงชีวิตนอกฤดูของมันไว้ ดังมีรายงานหลายชิ้นระบุถึงปริมาณสารเคมีที่ใช้กับผักที่มีชีวิตในฤดูหนาว ว่าพบน้อยกว่าฤดูอื่นๆ หรือกระทั่งผักนำเข้าจากจีน ที่ปัจจุบันพบเห็นมากขึ้นตามตลาดสดนั้น ก็พบว่ามีสารตกค้างไม่มาก เนื่องจากปลูกในสภาวะอากาศหนาวเย็นตามชีวิตปกติของผักนั้นๆ ทำให้มันมีความแข็งแรงอยู่แล้ว

การผลิตที่ไม่ตรงตามฤดูกาลจึงส่งผลในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการกินอยู่อย่างมีคุณภาพของมนุษย์โดยตรง

และเมื่อเรื่องนี้พูดกันไปไกลถึงประเด็นฤดูกาล ก็ย่อมโยงใยมาถึงการ “เก็บกิน” พืชผักตามป่าและพื้นที่รกร้างข้างทาง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ค่อยแพร่หลายนักในเมืองไทย แต่ผมก็คิดว่า ในอนาคตอันใกล้ ถ้าข้อมูลข่าวสารเรื่องสารพิษตกค้างจะสร้างความหวาดกลัวให้เกิดกับผู้บริโภคบ้าง มันก็คงจะส่องสะท้อนไปให้เห็นภาพทางออกทางเลือกชัดขึ้นกว่าแต่ก่อนนะครับ

ทั้งการเลือกซื้อ การกินตามฤดูกาล และกิจกรรมการเก็บกินอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพ และปลอดภัย

…..

ส่วนข้อเสนอของ Thai – PAN ต่อกรณีเร่งด่วนเฉพาะหน้านี้ มีตั้งแต่เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้สารพาราควอต ตามมติของกระทรวงสาธารณสุข, ส่งเสริมความเป็นไปได้ในการสร้างระบบเฝ้าระวังที่เชื่อมกันเป็นเครือข่าย, กำหนดให้มีมาตรการจัดการทางกฎหมายกับสินค้าที่จงใจทำให้ไม่ได้มาตรฐาน, ทำวิจัยเพื่อประเมินตัวเลขความเสี่ยงของสารพิษแต่ละชนิด ที่จะส่งผลต่อสุขภาพของร่างกายอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

รวมทั้งเสนอให้มีโครงการผลิต “ชุด Kit” สำหรับทดสอบสารพิษเบื้องต้นแบบง่ายๆ สำหรับใช้ในครัวเรือนทั่วไปโดยเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการตรวจสอบได้ด้วยตนเอง

เรื่องนี้คงต้องรณรงค์กันต่อไป ส่วนเรา ในฐานะผู้บริโภค ก็คงต้องรอลุ้นกันว่า ผลตรวจผักปีหน้าของ Thai – PAN จะมีแนวโน้มออกมาอย่างไรนะครับ