กระทาย

กระทาย เป็นของใช้ชาวบ้านสมัยก่อน

กระทาย ดูไปก็เหมือนกระบุงขนาดเล็ก สมัยโบราณคนไทยเคยใช้เป็นเครื่องตวงข้าว วิธีนับคือ 2 กระทายเท่ากับ 1 กระบุง หน่วยวัดนี้ กาลเวลาผ่านไป ก็เหลือไว้เพียงชื่อ เด็กรุ่นใหม่แทบไม่มีใครรู้และเข้าใจ เพราะเครื่องตวงสมัยใหม่แสนจะทันสมัย และแพร่หลายโดยทั่วไป

บางท้องถิ่น อย่าง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เรียกกระทายว่า กระเช้า ท้องถิ่นอื่นๆ อาจเรียกชื่อต่างกันไป ตามคำเรียกขานของผู้เฒ่าผู้แก่ แต่ความหมายคือ เครื่องมือใช้ตวงชนิดเดียวกัน

คำว่า กระทาย มีอยู่สองความหมาย

ถ้าเป็นคำนาม กระทาย หมายถึง ภาชนะคล้ายกระบุง แต่ถ้าเป็นคำกริยา หมายถึง อาการกระทบให้เมล็ดข้าวที่ใส่กระด้งแยกออกจากแกลบ ดังบทเพลงลูกทุ่งของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ชื่อ หนุ่มสุพรรณ ท่อนหนึ่ง ความว่า “พี่จะเป็นคนตำเสียให้รำอ่อน ให้น้องรักเป็นคนร่อน คนกระทาย”

ร่อน หมายถึง การเอาเมล็ดข้าวใส่ตะแกรงร่อน ส่วนกระทายนั้น หมายถึง การเอาเมล็ดข้าวที่ตำแล้วใส่กระด้ง แล้วใช้มือกระทบขอบกระด้งเป็นจังหวะ

การกระทายเมล็ดข้าว สาวๆ สมัยก่อนคงรู้จักกันดี ไม่อย่างนั้น เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ร้องเพลงออกไป คนคงไม่เข้าใจ

กระทาย เครื่องมือของใช้ชาวบ้านเป็นเครื่องจักสาน วิธีการสานคล้ายกับกระบุง คือ มีตอกยืนเหลาจากไม้ไผ่ ไว้ผิว และตอกเวียนเหลาจากไม้ไผ่ การเหลาตอกเป็นตัวกำหนดความมั่นคงแข็งแรง กรณีต้องการความมั่นคงแข็งแรง ทนทาน ต้องเหลาตอกไว้ผิว กรณีต้องการใช้ชั่วคราว ก็ไม่ต้องไว้ผิว

ขั้นตอนการสานกระทาย ขั้นแรกต้องขึ้นรูปทรงก่อน คือนำเอาตอกยืนมาขึ้นรูป เริ่มจากส่วนก้น ขั้นที่สองคือขั้นสาน คนสานจะนำตอกเวียนมาสานเวียนไปเรื่อยๆ ให้เข้ารูปทรงตามแบบต้องการ ขั้นที่สาม ทำขอบด้านปากโดยใช้ไผ่เหลาไว้ผิว 2 อัน ประกบกัน มีด้านใน 1 อัน ด้านนอก 1 อัน แล้วค่อยๆ ใช้ตอกเหนียว หรือลวด หรือหวายก็ได้ มัดไม้ประกบนั้นเข้าหากัน เสร็จแล้วก็จะได้ขอบกระทายที่มั่นคง แข็งแรง

การใช้กระทาย ชาวบ้านใช้กระทายสำหรับตวงข้าวของ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มัน ถั่ว งา และข้าวของอื่นๆ ที่ใส่กระทายตวงได้

สมัยเก่าก่อน เครื่องตวงอื่นๆ อย่าง กิโล ยังไม่แพร่หลาย ชาวบ้านใช้กระทายตวง เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของซึ่งกันและกัน และตวงข้าวของขาย

แม่ผู้เขียนเล่าว่า สิ้นฤดูหน้าเก็บเกี่ยว ชาวบ้านนำข้าวเปลือกขาย ส่วนที่เหลือเก็บไว้จะใส่ยุ้งไว้เป็นข้าวปลูก และข้าวไว้ตำหุงกิน ช่วงนี้เองมักมีคนต่างถิ่นนำเอาข้าวของมาแลกข้าว ชาวบ้านป่ามักหามัน กลอย ใส่หาบมาเร่แลกข้าวเปลือก

อัตราการแลกกำหนดง่ายๆ เป็นต้นว่า กลอย 1 กระทาย เท่ากับข้าวเปลือกกี่กระทายก็ว่ากันไปตามความพอใจทั้งสองฝ่าย สำหรับคนที่อยากกินกลอยแต่ไม่มีข้าวเปลือกแลก ก็อาจตีค่ากลอยเป็นเงิน ใช้กระทายตวงจะกระทายละเท่าไรก็ว่ากันไป

เรื่องการซื้อขายสมัยเก่าก่อน ไม่ค่อยตีค่ากันเป็นเงินเท่าใดนัก เพราะเงินทองเป็นของหายาก ชาวบ้านหมู่บ้านใดทำนาได้ดี ชาวบ้านที่ปลูกเผือกปลูกมันได้ก็จะนำเอาผลผลิตของตนเองมาแลก ตกลงอัตราแลกเปลี่ยนกันเอง ไม่ต้องรอให้พ่อค้าคนกลางมากำหนดให้ และไม่ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดโลกอย่างปัจจุบัน

การแลกเปลี่ยนกันอย่างง่ายๆ ต่างฝ่ายต่างพอใจกันก็จบ

ประสบการณ์ของผู้เขียน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2513 ยังไม่ได้เรียนชั้นประถม วันใดพ่อหาปลามาได้มากเหลือกิน แม่จะชวนไปขายตามไร่ของชาวบ้าน เครื่องชั่งแม่มีกิโล 1 คัน นำติดไปด้วย ใครต้องการปลาเท่าใด ก็ชั่งขายไป

นับเป็นภาพประทับใจมาก ชาวบ้านที่ออกมาทำไร่ตอนกลางวัน บางคนไม่มีเงินติดมา ก็เอาข้าวของมาแลก บางคนบอกว่าไม่ต้องชั่งกิโล แต่ให้นับตัวปลาเอาก็ได้ เมื่อได้ปลาแล้วก็ทุบหัว เอาเถาไม้ร้อยแขวนไว้ รอปิ้ง ย่าง เมื่อหยุดงาน

เราเดินขายไปตามไร่ของชาวบ้าน ขากลับเมื่อย้อนมาทางเดิม ชาวบ้านที่ซื้อปลาเราไปบางคนย่างปลาเสร็จแล้ว เรียกเรากินข้าวด้วย

ส่วนใหญ่ก็เป็นญาติๆ กันทั้งนั้น ใกล้ชิดบ้าง ห่างกันไปบ้าง ถึงกระนั้นแม้เราจะหิวอย่างไร เราก็ไม่กล้าแวะเข้าไปกินด้วยแน่ๆ เพราะปลาเราเขาซื้อไปแล้ว จะร่วมวงกินกันฟรีๆ ก็ดูกระไรอยู่

กระทาย ยังพอหาดูได้อยู่ เราชาวบ้านไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับตวงข้าวแล้ว แต่มีไว้สำหรับใส่ข้าวของเล็กๆ น้อยๆ แทน