จิตรดา การุณ สาวสกลนคร มีรายได้จากการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง

ผู้เขียนและทีมงานได้ไปเยือนแดนอีสาน จังหวัดสกลนคร สมัยแต่ก่อนนั้นขึ้นชื่อว่ามีคนยากจนมากที่สุด เพราะความแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำ ทำนาอย่างเดียว อาศัยน้ำฝน พอมีข้าวไว้กิน จะปลูกพืชผักอย่างอื่นก็ทำได้เฉพาะฤดูฝนเท่านั้น ปัจจุบันงานเกษตรได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้น

คุณจิตรดา การุณ

คุณจิตรดา การุณ บ้านตาดโตน ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร สมัยแต่ก่อนก็อยู่ในสภาพเกษตรกรผู้ยากไร้กันเยอะ แต่วันเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ชาวหมู่บ้านตาดโตน ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเกษตรกรใหม่กันเกือบหมด คุณจิตรดา เป็นหัวแรงตั้งเป็นกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ จัดเป็นกลุ่มเกษตร โดยมีสมาชิก 20 กว่าคน มีกิจกรรมทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ เลี้ยงวัว ควาย โดยแบ่งให้ครอบครัวละ 10-30 ตัว ทำแปลงปลูกหญ้าให้วัว ควาย

สำหรับครอบครัวของคุณจิตรดา เธอเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เธอมีที่ดินทั้งหมด 27 ไร่ แบ่งเป็น ที่ทำนา 8 ไร่ ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ ปลูกไผ่ 2 ไร่ มะม่วง 2 ไร่ กระท้อน 1 ไร่ ขุดบ่อ 5 ไร่ ปลูกหญ้าให้วัว 20 ไร่
บ่อที่ขุดไว้ 5 ไร่ แบ่งเป็นบ่อปลา 4 ไร่ บ่อเลี้ยงกบ 1 ไร่

บ่อปลานิล ปลาดุก 4 ไร่ เพื่อทำบ่อตกปลา

ซึ่งบ่อปลา 4 ไร่ เธอขุดแบบเก็บน้ำไว้ใช้ด้วย โดยขุดลึก 6 เมตร เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเป็นบ่อเลี้ยงปลาด้วย โดยเธอปล่อยปลานิลและปลาดุกเพื่อขายปลาเป็นรายได้รายวัน มีแม่ค้าหรือคนละแวกนี้ต้องการกินปลาก็จะมาขอซื้อไปประกอบอาหาร

ใครอยากกินปลาก็จะมุ่งหน้ามาบ่อปลาของคุณจิตรดา เธอก็จะตักขายให้ ปลานิลกิโลกรัมละ 70 บาท ปลาดุกกิโลกรัมละ 100 บาท บางครอบครัวเวลามีงานเลี้ยงก็จะมาซื้อปลาที่บ่อปลาของคุณจิตรดา บ่อปลาบนพื้นที่ 4 ไร่ จึงตักปลาขายเป็นรายได้ประจำวัน ซึ่งมีกบด้วย กบกิโลกรัมละ 120 บาท

บ่อปลา ใช้เลี้ยงกบด้วย

ส่วนรายได้ต่อปีก็คือ วัว 1 ปี จะมีรายได้จากการขายวัว ตัวละ 2-3 หมื่นบาท 1 ปี จะขายได้ประมาณ 5 ตัว ก็จะมีรายได้ต่อปี ปีละ 1 แสนบาท

ส่วนนาข้าว 8 ไร่ จะได้ข้าวไร่ละ 600 กิโลกรัม 8 ไร่ ได้ 4,800 กิโลกรัม จะแบ่งขาย 3,000 กิโลกรัม ได้รับเงินประมาณ 6 หมื่นบาท ดังนั้น ครอบครัวของเธอจะมีทั้งรายได้ต่อปีและรายวัน

คุณจิตรดา บอกว่า การเป็นเกษตรกรเป็นงานหนัก ต้องทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า เลิกจนมืด แต่ก็มีความสุข เพราะเป็นงานส่วนตัว ต้องเป็นเจ้านายเอง เป็นลูกจ้างเองทุกอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำเองทั้งหมด ส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรช่วย เช่น รถไถนา รถปลูก รถเกี่ยวข้าว จะจ้างคนอย่างสมัยแต่ก่อนไม่มีแล้ว ก็เลยทำให้ชาวนายุคดิจิตอลสะดวกสบายขึ้นเยอะเลยทีเดียว

ผู้เขียนถามคุณจิตรดา ว่าที่ดิน 27 ไร่ เป็นที่ดินทีได้มาจากใคร
เธอเล่าให้ฟังว่า เป็นที่ดินของพ่อแม่เธอนั่นแหละ เธอได้เรียนหนังสือจบแค่ ม.6 ก็ได้ไปหางานทำอยู่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ใช่หนทางแห่งความสำเร็จในชีวิต เธอก็เลยกลับบ้านเกิดมาช่วยพ่อแม่ทำการเกษตร คือทำนา เลี้ยงวัว ควาย

บ่อเลี้ยงกบ ขายได้กิโลกรัมละ 120 บาท

เธอได้เข้ารับการอบรมจากศูนย์เรียนรู้จากกรมปศุสัตว์ ได้ความรู้มามากพอสมควร จนปัจจุบันเธอสามารถฉีดยาวัว ควาย หมู ได้ทุกอย่าง และทำการผสมเทียมวัว ควาย ด้วยตนเองได้ จนชาวบ้านละแวกนี้เรียกเธอว่า “หมอปลา” คือ เป็นหมอวัว ควาย ฉีดยาผสมเทียมให้วัว ควาย ใครเดือดร้อนก็จะวิ่งมาให้เธอช่วย เธอก็จะมีรายได้จากการไปฉีดยาให้วัว ควาย โดยได้ค่าจ้างฉีดตัวละ 300 บาท ก็นับว่าเป็นรายได้ประจำเดือนของเธอนั่นเอง

ทำนาอินทรีย์

สำหรับนาข้าวหอมมะลิ เธอจะทำนาอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยหมัก เพราะเธอมีมูลวัวมูลควายมากมาย การรวมกลุ่มกันเลี้ยงวัว ควายมากมาย มีสมาชิก 20 กว่าราย มีวัว ควาย นับร้อยๆ ตัว ดังนั้น ปุ๋ยคอกก็จะมีมากพอสำหรับใส่นาข้าว

นาข้าวอินทรีย์ของเธอจึงขายได้ราคา เพราะคนสมัยใหม่ที่รักสุขภาพต่างมาซื้อข้าวอินทรีย์ของเธอ เพราะใครๆ ก็เห็นด้วยตาว่า เธอทำนาข้าวอินทรีย์จริงๆ ไม่ได้ทำแบบหลอกลวง ชาวบ้านใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าหญ้าก็โกหกว่าใช้ปุ๋ยอินทรีย์

ชีวิตครอบครัวของคุณจิตรดา จึงถือว่าประสบความสำเร็จในการดำรงชีพด้วยอาชีพเกษตรยุคใหม่ หรือเกษตรทฤษฎีใหม่

เธอใช้ที่ดิน 2 ไร่ เป็นสำนักงานหรือศูนย์การเรียนรู้ให้ชาวบ้านทั่วไป มาหาวิชาความรู้ทุกเดือน จะมีนักวิชาการจากหลายสาขามาอบรมให้ความรู้เรื่องการเกษตรต่างๆ ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้

“ชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสานสมัยก่อนก็จะทำแต่นาอย่างเดียว พอมีข้าวไว้กิน นอกนั้นก็หาปู หาปลากิน ไม่มีรายได้อื่นใดอีกเลย นอกจากครอบครัวที่เป็นข้าราชการเท่านั้น จึงจะมีเงินส่งลูกเรียนหนังสือสูงๆ ได้” คุณจิตรดา บอกกับผู้เขียน

ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้เรียนจบเพียงชั้น ม.6 ไม่อาจจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้อย่างเพื่อนๆ ที่เขามีพ่อแม่เป็นข้าราชการ แต่เธอไม่ย่อท้อ เสาะหาวิชาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่เขาเปิดการอบรม เธอจะไปเข้าคอร์สอบรมกับเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางการเกษตรต่างๆ เธอโชคดีที่พ่อแม่มีที่ดินแปลงใหญ่ให้ทำกิน

ที่ดินของคุณจิตรดา อยู่ห่างจากตัวอำเภอเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น ที่ดินอยู่ติดถนนลาดยาง การคมนาคมสะดวกทุกอย่าง อำเภอวานรนิวาส อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร อยู่ใกล้กับอำเภอพังโคน และจังหวัดบึงกาฬ

คอกวัวเกษตรแปลงใหญ่

หญ้าเนเปียร์ ปลูก ดูแลง่าย

ที่ผ่านมา บริษัทเอกชน และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา ตั้งอยู่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิตและใช้ประโยชน์จากหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 พบว่า การใช้น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังมาผลิตหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการผลิตพืชอาหารสัตว์และการลดมลภาวะ

ลักษณะทั่วไปของหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์ที่มีอายุหลายปี ทรงต้นเป็นกอตั้งตรง สูงประมาณ 2-4 เมตร แตกกอดี มีระบบรากแข็งแรง ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี มีความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตสูง สัตว์ชอบกิน มีคุณค่าทางอาหารสูง โปรตีนหยาบประมาณ 10-20% ที่อายุการตัด 60 วัน และทำหญ้าหมักได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ เป็นหญ้าที่ไม่ติดเมล็ด จึงไม่เสี่ยงต่อการเป็นวัชพืช

ดร.ไกลาส เขียวทอง นักวิชาการกรมปศุสัตว์ ในฐานะผู้วิจัยสายพันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สามารถปลูกในเขตชลประทานได้ตลอดปี ส่วนพื้นที่ที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ก่อนปลูกให้เตรียมดินโดยการไถกำจัดวัชพืช 2 ครั้ง ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ รองพื้น จากนั้นไถกลบอีก 1 ครั้ง

การเตรียมท่อนพันธุ์

เตรียมจากต้นพันธุ์หญ้าที่มีอายุประมาณ 90 วัน นำต้นพันธุ์มาตัดเป็นท่อนๆ ให้มีข้อติดอยู่ไม่น้อยกว่าท่อนละ 2 ข้อ ต้นพันธุ์ 1 ต้น ตัดเป็นท่อนพันธุ์ได้ประมาณ 3 ท่อน นำไปขยายพันธุ์โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 12 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 80 เซนติเมตร ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 400 กิโลกรัม ต่อไร่

หลังการปลูก 2-3 สัปดาห์ ให้กำจัดวัชพืชครั้งแรก จากนั้นควรกำจัดวัชพืชหลังการตัดทุกครั้ง พร้อมกับการใส่ปุ๋ยปรับปรุงดิน โดยใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 46-0-0 อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่  หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ตอบสนองต่อการให้น้ำได้ดี หากให้น้ำแบบระบบพ่นฝอยทุก 3-5 วัน หรือปล่อยน้ำเข้าแปลงทุกๆ 7-10 วัน จะสามารถผลิตหญ้าสดได้ตลอดทั้งปี

เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวหญ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 75 วัน จากนั้นตัดใช้ประโยชน์ได้ทุกๆ 60 วัน การปลูกหญ้าในพื้นที่ชลประทานหรือให้น้ำโดยใช้น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม จะสามารถผลิตหญ้าสดได้ตลอดปี ตัดเกี่ยวหญ้าได้ 5-6 ครั้ง ต่อปี มีผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 70-80 ตัน ต่อไร่ หรือคิดเป็นน้ำหนักแห้ง ประมาณ 10-12 ตัน ต่อไร่ ต่อปี เพียงพอสำหรับการเลี้ยงวัว 5-6 ตัว สามารถลดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เหมาะสำหรับผู้มีพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์น้อย แต่มีจำนวนสัตว์มาก

คุณจิตรดา การุณ กับกิจกรรมที่ทำ

คุณภาพทางอาหารสัตว์

หญ้าอายุ 60 วัน มีวัตถุแห้ง เฉลี่ย 17.3 เปอร์เซ็นต์ มีโปรตีน เฉลี่ย 10.6 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย รวม 42.6 เปอร์เซ็นต์ และมีคาร์โบไฮเดรตละลายได้ 33.3 เปอร์เซ็นต์ จึงถือว่าเป็นพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี มีคุณค่าอาหารสัตว์สูง เหมาะสำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น วัวนม และสามารถนำไปผลิตเป็นพืชหมักได้ดี เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรตที่ละลายได้สูง

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ โดยพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ จะใช้เป็นอาหารเลี้ยงวัวได้ไม่น้อยกว่า 5 ตัว ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา กรมปศุสัตว์ จึงเร่งรัดกระจายท่อนพันธุ์หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ เน้นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม

เกษตรกร และฟาร์มปศุสัตว์ ร่วมกันผลิตหญ้าเชิงบูรณาการ โดยนำน้ำเสียจากอุตสาหกรรมมาปลูกหญ้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 5 ด้าน คือ ลดมลภาวะ ลดโลกร้อน ผลิตพืชอาหารสัตว์คุณภาพดี เพิ่มผลผลิตเนื้อและนม และเพิ่มความมั่นคงด้านอาหาร

หญ้าเนเปียร์เป็นพืชที่ตอบสนองต่อการให้น้ำและปุ๋ย หากวันนี้เกษตรกรตัดหญ้าเนเปียร์ออกขาย พรุ่งนี้ต้นหญ้าที่ถูกตัดจะงอกขึ้นมาใหม่ทันที เกษตรกรสามารถตัดต้นหญ้าเนเปียร์ออกขายได้ทุกๆ 2 เดือน แต่ลงทุนปลูกเนเปียร์เพียงครั้งเดียว หากเกษตรกรดูแลจัดการแปลงปลูกอย่างดี สามารถเก็บเกี่ยวหญ้าเนเปียร์ออกขายได้ยาวนานถึง 10 ปี เรียกว่าให้ผลตอบแทนนานกว่าการทำไร่อ้อยเสียอีก เพราะอ้อยปลูกแค่ 3 ปี ก็ต้องรื้อแปลงทิ้งเพื่อปลูกใหม่ จึงอยากให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชเศรษฐกิจตัวเลือกใหม่ในอนาคต

คุณจิตรดา การุณ เกษตรกรคนเก่ง แห่งบ้านตาดโตน

ขั้นตอนการทำหญ้าเนเปียร์หมัก

ในการหมักนอกจากจะใช้หญ้าเนเปียร์เป็นหลักแล้ว ยังมีส่วนประกอบที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ 4 ชนิด คือ 1. กากน้ำตาล  2. กระถิน  3. เปลือกมันสำปะหลัง  4. ผงแร่ธาตุ

เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารที่สมบูรณ์ พร้อมให้โปรตีน แร่ธาตุ และสารอาหารที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยง อายุหญ้าที่นำมาหมักจะเลือกเอาหญ้าที่มีอายุระหว่าง 70-75 วัน โปรตีนจะอยู่ที่ 14-16 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการจัดการและดูแลแปลงหญ้า ผลผลิตมาตรฐานต้องได้ 12-18 ตัน ต่อไร่

การรดน้ำในหน้าแล้ง 1 ครั้ง ต่อ 3 วัน ใช้ระบบวางท่อปล่อยน้ำเข้าร่อง เพราะจะทำให้น้ำชุ่มชื่นทั่วถึง ส่วนปุ๋ยได้จากมูลวัว ไก่ อื่นๆ จะทำให้หญ้าเจริญงอกงามโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและช่วยลดต้นทุนอีกด้วย

ขั้นตอนการหมักหญ้าเนเปียร์ มีด้วยกัน 4 วิธี

1. บ่อหมัก…ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 2 เมตร ใช้หญ้าเนเปียร์สับละเอียด กากน้ำตาล กระถิน เปลือกมันสำปะหลัง ผสมให้เข้ากันตามสัดส่วนที่ต้องการ แล้วนำไปหมักไว้ในบ่อที่เตรียมไว้ และปิดบ่อให้สนิทไม่ให้มีอากาศเข้า เก็บไว้ 21 วัน

2. ผ้าใบหมัก…ใช้หญ้าเนเปียร์สับละเอียด กากน้ำตาล กระถิน เปลือกมันสำปะหลัง ผสมให้เข้ากันตามสัดส่วนที่ต้องการ แล้วนำไปหมักโดยการใช้ผ้าใบห่อคลุมไว้ไม่ให้มีอากาศเข้า เก็บไว้ 21 วัน

3. ถังหมัก…ใช้หญ้าเนเปียร์สับละเอียด กากน้ำตาล กระถิน เปลือกมันสำปะหลัง ผสมให้เข้ากันตามสัดส่วนที่ต้องการ แล้วนำไปหมักไว้ในถังที่เตรียมไว้ และปิดถังให้สนิทไม่ให้มีอากาศเข้า เก็บไว้ 21 วัน

4. ถุงหมัก…ใช้หญ้าเนเปียร์สับละเอียด กากน้ำตาล กระถิน เปลือกมันสำปะหลัง ผสมให้เข้ากันตามสัดส่วนที่ต้องการ แล้วนำไปหมักไว้ในถุงที่เตรียมไว้ แล้วใช้เครื่องดูดอากาศออก และปิดปากถุงให้สนิทไม่ให้มีอากาศเข้า เก็บไว้ 21 วัน

ผู้สนใจรายละเอียด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณจิตรดา การุณ โทร. (093) 468-8758

………………………………….

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่ 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันพฤหัสที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2563