อดีตพนักงานซอฟต์แวร์คืนถิ่น มาพัฒนาบ้านเกิด แปรรูปหัวปลีเพิ่มน้ำนมแม่ สร้างมูลค่าจากเดิมกว่า 10 เท่า

จากหัวปลี 5 กิโลกรัม ราคาไม่กี่สิบบาท เพิ่มมูลค่า กลายเป็น 5 กิโลกรัม 1,500 บาท ขึ้นมาได้ยังไงมาดูกัน!

คุณเสาวลักษณ์ มณีทอง หรือ พี่จอน บ้านเลขที่ 339 หมู่ที่ 4 ตำบลพระธาตุ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อดีตพนักงานออฟฟิศ ทำงานเกี่ยวกับระบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ หวนคืนถิ่นกลับมาพัฒนาบ้านเกิดที่จังหวัดตาก

คุณเสาวลักษณ์ มณีทอง หรือพี่จอน

ที่มาของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มหัวปลี เพิ่มน้ำนมแม่

พี่จอน เล่าว่า ตนเองทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ มานานกว่า 10 ปี จนมีความรู้สึกว่าอิ่มตัวกับงานประจำที่ทำแล้ว อยากกลับบ้านมาดูแลพ่อกับแม่ จึงพยายามมองหาอาชีพที่จะรองรับตัวเองหลังจากลาออกจากงานมาแล้ว ใช้เวลามองหาอยู่นานก็ยังไม่เจออาชีพที่ถูกใจและให้เงินเดือนเท่าๆ เดิมจากที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ จึงมีความคิดที่ว่าในเมื่อหางานหาเงินที่ต้องการไม่ได้ ทำไมไม่ลองกลับมาพัฒนาอาชีพเกษตรของพ่อแม่ให้ดีขึ้น พัฒนาให้หลุดพ้นจากปัญหาการตลาดที่มีมานาน โดยเริ่มจากการมองหาประโยชน์จากสิ่งใกล้ตัว เนื่องจากเกษตรกรในชุมชนมักจะปลูกกล้วยกันเป็นส่วนใหญ่ จึงมองว่าน่าจะเป็นจุดที่สร้างผลิตภัณฑ์เด่นขึ้นมาได้ บวกกับแนวคิดที่อยากจะพัฒนาสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน จนเกิดไอเดียที่จะแปรรูปหัวปลีเป็นเครื่องดื่มเพิ่มน้ำนมแม่ อาศัยจากประสบการณ์ที่เคยเป็นพนักงานออฟฟิศมา ทำให้รู้ว่าบางทีคนที่เป็นคุณแม่ก็ไม่สะดวกที่จะนำหัวปลีมาทำกับข้าวกินเอง จึงเกิดไอเดียที่ว่าหากเป็นเครื่องดื่มน่าจะสร้างความสะดวกได้มากกว่า คุณแม่สามารถนั่งจิบที่โต๊ะทำงานได้ตลอด

โดยช่วงแรกจ้างให้โรงงานที่อื่นผลิตให้ก่อน ผลตอบรับค่อนข้างดีและถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับที่เริ่มเชื่อมั่นได้ว่าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหัวปลีสามารถทำรายได้ดีเท่าๆ กับเงินเดือนที่เคยได้รับ จึงตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาสร้างโรงงานเล็กๆ เพื่อแปรรูปเอง โดยการรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรในชุมชนมาแปรรูปที่โรงงานก็พัฒนาเรื่อยๆ จากเดิมมีสมาชิกกลุ่มเพียง 7 คน ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นมาประมาณกว่า 300 ราย ที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก

 

หัวปลีจากเดิมราคากิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท
สามารถแปรรูปสร้างมูลค่าได้เป็นหลักพัน

หลังจากเริ่มตั้งกลุ่มมีสมาชิกเป็นของตัวเอง พี่จอน บอกว่า ก็เหมือนการที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาเป็นการจ้างที่อื่นผลิต แต่เมื่อต้องลงมือแปรรูปเองก็จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการไปศึกษาดูงานจากที่อื่นบ้าง หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตบ้าง เนื่องจากเป็นมือใหม่ยังไม่มีการติดต่อกับหน่วยงานที่ไหน แต่เมื่อทำไปได้สักระยะ เริ่มเป็นผู้ประกอบการอย่างเต็มตัว มีการขึ้นทะเบียนต่างๆ ก็จะมีการอบรม มีหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่ทำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เข้ามาช่วย ทางกลุ่มจึงได้รวบรวมผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่เข้าไปปรึกษานักวิจัยและหน่วยงานที่มีความรู้มาพัฒนาชุมชน มีการพัฒนาและวิจัยอย่างต่อเนื่องในหลายๆ โปรดักต์ เกิดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหัวปลีเพิ่มน้ำนมแม่ได้หลายชนิด ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชนิดผง กับชาสมุนไพร ในส่วนของเครื่องดื่มชนิดผงจะแตกไลน์ออกมาเป็นหลายๆ กลิ่น เช่น กลิ่นตะไคร้ กลิ่นกะเพรา กลิ่นขิง หรือแบบชนิดหวาน และรสชาติแบบธรรมชาติที่ไม่ผสมน้ำตาล สามารถหาซื้อได้ที่ www.momplantlove.com มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือคุณแม่หลังคลอด เนื่องจากตนเองเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ พยายามหาช่องทางการตลาดที่แข่งขันไม่สูง แต่เป็นสินค้าที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด จึงเลือกตลาดที่เป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจง เครื่องดื่มชนิดผง และชาสมุนไพร แบรนด์ plantlove ได้รับทั้งมาตรฐานไบโออีโคโนมี มาตรฐาน อย. มาตรฐาน HACCP และมาตรฐาน HALAL อีกด้วย

หัวปลี ขิง กะเพรา ชนิดบรรจุซองชา รสธรรมชาติ

ขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์
เครื่องดื่มหัวปลีเพิ่มน้ำนมแม่

พี่จอน บอกว่า ขั้นตอนการแปรรูปตามมาตรฐาน HACCP มีทั้งหมดกว่า 32 กระบวนการ ในครั้งนี้จะอธิบายกระบวนการแบบคร่าวๆ เบื้องต้นคือ

  1. ต้องลงลึกตั้งแต่แปลงปลูกมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันแรกที่เริ่มลงมือปลูก และมีการติดตามตรวจแปลงเป็นระยะ เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีการใช้สารเคมี ตรวจดิน ตรวจน้ำ ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง ทำเป็นเครือข่าย และหลังจากแปลงได้ทำการตรวจยืนยันมาตรฐานแล้ว สมาชิกกลุ่มถึงสามารถนำหัวปลีมาส่งในกระบวนการแปรรูปได้
  2. ลักษณะหัวปลีที่เหมาะแก่การแปรรูปคือ เลือกหัวปลีที่ได้กำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม มีกล้วยออกจนเต็มเครือแล้วถึงจะตัดออกมาแปรรูป เป็นหัวปลีกล้วยน้ำว้า

    หัวปลีคุณภาพ ปลอดสารเคมี
  3. หลังจากที่สมาชิกกลุ่มส่งหัวปลีมาให้ก็จะมีการตรวจสอบคุณภาพว่าได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ เช่น สี ความสด ปกติจะตัดภายใน 1 วัน และแปรรูปให้เสร็จภายใน 1 วัน และมีการตรวจสารเคมีตกค้างด้วยชุดทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องมั่นใจได้ว่าไม่มีสารเคมีตกค้างจริงๆ
  4. หลังจากผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ก็จะนำหัวปลีมาเข้าสู่กระบวนการล้าง ตัดแต่ง คัดแยก คั้นน้ำ เมื่อคั้นน้ำจนได้ความเข้มข้นระดับหนึ่ง จะมีเทคนิคของการคั้น และเทคนิคของการต้มก่อนจะให้ระเหยกลายเป็นผง ที่ทำอย่างไรให้คุณค่าของหัวปลีออกมาเยอะที่สุด เพราะอยากให้เป็นประโยชน์ต่อคุณแม่มากที่สุด
  5. พอเสร็จแล้วจะนำน้ำที่คั้นแล้วมาต้มสกัดเป็นผง ร่วมกับน้ำตาล แล้วนำส่วนผสมอย่างอื่นมาชูกลิ่นเพื่อให้ดื่มง่ายมากขึ้น เช่น ตะไคร้ กะเพราะ ขิง แต่ถ้าเป็นรสธรรมชาติบรรจุในซองชา จะนำหัวปลีมาซอยแล้วนำไปตากในพาราโบลาโดม ตู้อบลมร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วนำมาบด หั่น อีกครั้ง
ตรวจแปลงกล้วยกลุ่มสมาชิก

ซึ่งกระบวนการแปรรูปจะใช้เวลาทำไม่เกิน 1 วัน ปริมาณการผลิตหัวปลีสดวันละ 500 กิโลกรัม นำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกตัดแต่งออกไป อัตราส่วนหัวปลีสด 10 กิโลกรัม คั้นเป็นน้ำเข้มข้นได้ 1 ลิตร จากนั้นนำมาต้มเคี่ยวจนระเหยเป็นผง นำมาบรรจุใส่ซองละ 100 กรัม ราคาซองละ 150 บาท จากราคาที่รับซื้อหัวปลีจากกลุ่มสมาชิกกิโลกรัมละ 10 บาท สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 10 เท่า ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ดี และไม่ได้เป็นรายได้ของตนเองคนเดียว แต่หมายถึงรายได้ของสมาชิกกลุ่มทุกคนด้วย

ประโยชน์ของหัวปลี เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าหัวปลีเป็นอาหารเสริมสำหรับช่วยเพิ่มน้ำนมแม่หลังคลอด ช่วยบำรุงธาตุเหล็ก บำรุงเลือดให้ดีก็จะช่วยเพิ่มน้ำนม ช่วงแรกถ้าเป็นช่วงเร่งรัดอยากให้มีน้ำนมเยอะอาจต้องกินวันละ 3-4 ซอง แต่เมื่อน้ำนมเริ่มอยู่ตัว ร่างกายเริ่มปรับปริมาณน้ำนมให้เหมาะสมก็สามารถปรับลดลงมาเหลือวันละ 1-2 แก้ว หรือไม่รับประทานเลยก็ได้ วิธีนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายนมผงไปได้เยอะมาก เพราะในสมัยนี้คุณแม่สามารถสต๊อกน้ำนมเก็บแช่แข็งไว้ได้เป็นระยะเวลานาน

หัวปลี ตะไคร้ ชนิดผง รสหวาน (แบบกล่อง)

ยอดขายต่อเดือน ช่วงก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 มียอดขายเดือนละ 4-5 แสนบาท แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดอย่างในช่วงนี้ ยอดขายก็ตกลงมาเหลือเดือนละ 1-2 แสนบาท ก็ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดใหม่เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้อยู่รอด ด้วยการแตกไลน์เป็นหลายผลิตภัณฑ์มากขึ้น อย่างตอนนี้ที่กลุ่มจะปลูกขมิ้นชันประมาณ 600 ไร่ ส่งขายให้กับคู่ค้า ส่งขายแบบ B2B ที่ย่อมาจาก Business-to-Business เพราะมีสมาชิกกลุ่มหลายคนมีพื้นที่เยอะ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรส่งขายให้กับผู้ค้าที่เขาต้องการ หรือแม้กระทั่งผลิตตามออเดอร์ที่คู่ค้าต้องการ มีการตกลงซื้อขายล่วงหน้า

ทีมนักวิจัย

ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่ อยากเชิญชวนให้เกษตรกร
หันมาแปรรูปสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่ากันมากขึ้น

“ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่มองว่า การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าจะรอให้ผลสดอย่างเดียว โอกาสของอายุการเก็บผลผลิตก็จะสั้นมาก ทำให้เสียเปรียบและไม่มีทางเลือกในการตลาด เช่น ถ้าขายแต่ของสด กล้วยเมื่อตัดมาสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3-4 วัน จะเริ่มเปลี่ยนสภาพ รวมถึงหัวปลีหากเกิน 2-3 วัน ก็จะเริ่มเหี่ยว ลูกค้าจะเริ่มไม่อยากซื้อเพราะเขาต้องการความสดใหม่ ฉะนั้น หากมีการนำมาแปรรูปอย่างน้อยก็ช่วยยืดอายุการเก็บและเวลาในการทำการขายได้อีกเป็นปี หรือถ้าเกษตรกรท่านใดมีความสามารถขายของสดได้ก็ขายของสดไปเลย แต่ถ้าเหลือค่อยนำมาแปรรูปก็ได้ การแปรรูปก็ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้ได้กับทั้งตัวเองและสมาชิกกลุ่ม ถ้ามียอดขายที่มากหน่อยก็สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับฝ่ายขายได้อีกด้วย ถือเป็นการเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้กับอีกหลายๆ คน” พี่จอน กล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (082) 665-7143

อบในพาราโบลาโดม
พืชสมุนไพรสร้างรายได้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกรัก

 

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่