ผักอินทรีย์ทีเวียดนาม กับระบบPGS ปลูกอย่างไร ถึงขายผลผลิตราคาเดียวกันหมด

PGS คือเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยประเทศเวียดนามได้มีการเข้าร่วม และก่อตั้งศูนย์มาแล้วเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2008 จากเดิมมีสมาชิกเพียง 20 ครัวเรือน จำนวนสมาชิกไม่ถึง 100 คน ณ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 300 ครัวเรือน

มีวิธีปลูกและการจัดการอย่างไรกับสมาชิกในกลุ่ม คือเกษตรกรที่จะเข้าร่วมกลุ่มได้จะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ต้องเข้าฝึกอบรมในโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับการเกษตร และพื้นดินที่จะปลูกผักอินทรีย์ได้ ต้องอยู่ห่างไกลจากชุมชนที่ปลูกผักโดยใช้สารเคมีเพื่อที่จะให้ปลอดภัยจากสารเคมี100 %  ดิน น้ำ จะต้องผ่านการทดสอบก่อนว่าปลอดสารพิษหรือไม่ และมีช่วงปรับเปลี่ยน 6 เดือน จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสภาพดินว่าไม่มีสารเคมีตกค้างจริงไหม 1 ปี ตรวจ 2 ครั้ง

ที่ประเทศเวียดนามสามารถปลูกผักได้เหมือนที่ประเทศไทย ประเทศไทยปลูกอะไรได้ที่เวียดนามก็ปลูกได้ จะมีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ต้องนำเข้าจากประเทศไทย และด้วยความที่ทางกลุ่มมีเครือข่ายค่อนข้างมากทำให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นฤดูกาลของการเพาะปลูกจะมีผัก ผลไม้ กว่า40-50 ชนิด ถ้านอกฤดูกาลอาจจะเหลือเพียง 20-30 ชนิด

การตลาด เขาจะมีตลาดของเขาโดยเฉพาะเป็นร้านของเขาเอง เป็นร้านให้กลุ่มเครือข่ายส่งผลผลิตมาขาย โดยมีบาร์โค้ดติดอยู่บนถุงผลิตภัณฑ์ เพื่อบอกแหล่งที่มาของผลิตผลนั้นๆ แต่ที่นี่จะแปลกตรงที่เขาจะขายสินค้าราคาเท่ากันหมด ไม่ว่าจะเป็นแครอท มันฝรั่ง มะเขือม่วง หรือผลผลิตชนิดอื่นๆ เขาก็จะขายในราคากิโลกรัมละ 1 ดอลล่า เท่ากันหมด แต่ถ้าส่งขายในร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปจะขายผลผลิตในราคากิโลกรัมละ 2 ดอลล่า

ทำไมถึงขายราคาเท่ากันหมด เขาให้เหตุผลง่ายๆ ว่าเกษตรกรไม่อยากจะคิดมาก ขายแบบนี้ขายง่าย สะดวก แล้วราคานี้เกษตรกรยังมีกำไร และพอใจ ถ้าไม่ได้กำไรเขาคงไม่ทำ

นับได้ว่าเป็นการตลาดที่แปลกไปอีกแบบ ซื้อง่าย ขายคล่อง ได้กำไรแต่ไม่มาก ถือว่าพอเพียง