แกนนำชาวสวนยางแนะรัฐแก้ปัญหารุกป่า ให้ชาวสวนยางแสดงตนโดยไม่ผิดกม. สกัดนายทุนถือครองแปลงใหญ่

วันที่ 19 กรกฎาคม นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายรัฐสั่งให้โค่นยางในพื้นที่บุกรุก แต่ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ป่า และยืนยันว่าไม่ได้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังจากเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่า และเป็นต้นเหตุปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งที่การบุกรุกทำลายป่า เป็นวิกฤตของชาติและเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน

นอกจากนั้นยอมรับว่าสาเหตุที่ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศ เนื่องจากราคายางที่สูงถึงกิโลกรัมละ 137 บาท ในปี 2554 คือ แรงจูงใจมีการปลูกยางในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ที่มีการบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด และพืชไร่อื่น และคนในพื้นที่นำที่ดินดังกล่าวมาขายต่อให้แก่นายทุน และคนต่างถิ่นในราคาถูก

นายสุนทรกล่าวว่า เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ สคยท. มีข้อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตให้นายทุน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และให้นำที่ดินดังกล่าว มาจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้และผู้ไม่มีที่ทำกิน ประกาศให้เกษตรกรที่มีสวนยางในพื้นที่ป่า มาแสดงตนโดยไม่มีการกล่าวโทษเอาผิด จะทำให้นายทุนที่บุกรุกจะไม่กล้ามาแสดงตัว หากใช้วิธีส่งตัวแทน หรือนอมินี ก็มีวิธีตรวจสอบได้ ให้เกษตรกรที่มาสวนยางในพื้นที่ป่า รวมกลุ่มเป็นชุมชน และบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ โดยให้มีการทำแผนที่ พร้อมพิกัดจีพีเอสแปลงสวนยางของสมาชิกกลุ่ม และให้คณะกรรมการชุมชนขออนุญาตให้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ในลักษณะสิทธิชุมชน

“รัฐต้องสร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ในลักษณะสิทธิชุมชน ลดจำนวนต้นยางให้เหลือไม่เกิน 59 ต้นต่อไร่ และให้ปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 44 ต้นต่อไร่ ตามแนวทางของธนาคารต้นไม้ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางหรือป่าเศรษฐกิจ พร้อมทำข้อตกลงให้ชุมชน กำกับให้สมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไข อย่างเคร่งครัด และชุมชนจะทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าที่เหลือโดยไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติม หากผิดสัญญา สิทธิชุมชนที่ได้รับจะถูกยกเลิก และต้องคืนที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐทันที ส่วนกรณีมีสวนยางของนายทุนที่ไม่มาแสดงตน ให้รัฐยึดคืนสวนยางดังกล่าวมาทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลรักษาป่าชุมชน และจัดการผลประโยชน์”